WHAUP ปลดล็อกครึ่งปีหลังธุรกิจฟื้น เดินเกมบุกโปรเจกต์น้ำ – ไฟต่อเนื่อง 

106

 

มิติหุ้น – บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ประกาศผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2563 มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติ 1,282 ล้านบาท กำไรสุทธิ 361 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงานปกติ 397 ล้านบาท โดยได้รับผลกระทบจากการจากการลดลงของส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าที่ลดลงตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า การหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าตามแผน ผลกระทบสถานการณ์ภัยแล้ง และการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ด้าน CEO “นิพนธ์ บุญเดชานันทน์” มั่นใจครึ่งปีหลังธุรกิจฟื้นตัวได้อานิสงส์ภัยแล้งคลี่คลาย ส่งผลให้ผู้ประกอบการกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างปกติ หนุนยอดการใช้น้ำ และไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามเป้าที่วางไว้

บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (WHAUP) รายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 บริษัทฯ มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติจำนวน 620 ล้านบาท ลดลง  44% YoY และกำไรจากการดำเนินงานปกติ (Normalized Net Income) ซึ่งเป็นดัชนีหลักในการสะท้อนผลการดำเนินการหลักจำนวน 177 ล้านบาทปรับตัวลดลง 74% YoY โดยได้รับผลกระทบหลักจากการลดลงของส่วนแบ่งกำไรทางบัญชีจากธุรกิจไฟฟ้าที่บริษัทร่วมลงทุน โดยเฉพาะจากโรงไฟฟ้า Gheco-One ซึ่งลดลงตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า นอกจากนี้ยังคงได้รับผลกระทบจากเรื่องสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศไทยต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ผ่านมา

ทั้งนี้งวด 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติ จำนวน 1,282 ล้านบาท ลดลง 28%  YoY และกำไรจากการดำเนินงานปกติ (Normalized Net Income) จำนวน 397 ล้านบาทปรับตัวลดลง 59% YoY

ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยว่า “สำหรับผลการดำเนินงานในส่วนของธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทนั้น กลุ่มธุรกิจ IPP ได้รับผลกระทบจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรทางบัญชีจากโรงไฟฟ้า Gheco-One ที่ลดลงจากหลายปัจจัย เช่น อัตราค่าความพร้อมจ่ายที่ลดลงตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ค่าเงินบาทที่แข็งตัวทำให้ได้รับค่าความพร้อมจ่ายที่ลดลง ทิศทางราคาถ่านหินที่ลดลง และการเริ่มจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 10% เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา แต่ด้วยผลการดำเนินการของโรงไฟฟ้าที่ยังคงมีความแข็งแกร่ง และภาระการชำระคืนเงินกู้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่ลดลงตามลำดับด้วยเช่นกัน ทำให้บริษัทฯยังคงได้รับเงินปันผลจากการลงทุนในโครงการดังกล่าวในระดับที่สูงตามคาดการณ์ได้อย่างต่อเนื่อง  ในขณะที่ส่วนแบ่งกำไรของกลุ่มธุรกิจ SPP ในไตรมาส 2 ยังอยู่ในระดับเดียวกันกับช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยปริมาณยอดขายไฟฟ้ารวมของไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1 ประมาณ 2% แต่เนื่องจากโรงไฟฟ้าจำนวน 3 แห่ง (จากทั้งหมด 8 แห่ง) มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนในครึ่งปีแรก ทำให้ส่วนแบ่งกำไรของกลุ่มธุรกิจ SPP ในครึ่งปีแรกเมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงตามแผนลดลงประมาณ 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงรับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรเพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ (CCE) ซึ่งเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ตลอดจนการทยอยเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการ Solar Rooftop ในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นจาก 6 เมกะวัตต์ในช่วงปลายปี 2562 เป็น 18 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 39 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปี 2563 นี้ ส่งผลให้ยอดรวมกำลังผลิตไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตามสัดส่วนการถือหุ้นแตะระดับ 592 เมกะวัตต์”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับผลการดำเนินการในส่วนของธุรกิจสาธารณูปโภคในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากภาวะภัยแล้ง โดยภาคอุตสาหกรรมได้ให้ความร่วมมือกับมาตรการภาครัฐที่ขอความร่วมมือในการลดการใช้น้ำลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายผลิตภัณฑ์น้ำในประเทศไทยของบริษัทในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ลดลงประมาณ 9% จากช่วงครึ่งปีแรกของปีก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ (1) แนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย โดยระดับน้ำ ณ สิ้นเดือน กรกฎาคม ในอ่างเก็บน้ำ 3 แหล่งหลักที่หล่อเลี้ยงพื้นที่ EEC มีการปรับตัวดีขึ้นมากจากระดับน้ำ ณ จุดต่ำสุดช่วงเดือน พฤษภาคม และปรับตัวสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) แนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมที่ทยอยเริ่มกลับมาดำเนินการตามปกติมากขึ้น และ (3) การกลับมาเริ่มเปิดดำเนินการโครงการใหม่ของลูกค้าที่มีการชะลอในช่วงครึ่งปีแรกจากภาวะภัยแล้ง ดังนั้นบริษัทฯ ยังประเมินว่าปริมาณการขายน้ำในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มสูงที่จะฟื้นตัวกลับมา
นอกจากนี้จากการที่บริษัทฯ ได้เร่งดำเนินการขยายกำลังการผลิต Reclaimed Water ในช่วงครึ่งปีแรกนั้น ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิต Reclaimed Water ที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวมเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของความต้องการใช้น้ำในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลบวกทั้งในแง่การเพิ่มรายได้จากการขาย เนื่องจาก Reclaimed Water เป็นผลิตภัณฑ์น้ำที่ถือว่าเป็นสินค้าเกรดสูง (premium grade) และการลดการพึ่งพิงและต้นทุนจากการใช้น้ำดิบ ได้อีกบางส่วนด้วย”

อย่างไรก็ตามดร.นิพนธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลาย รวมถึงแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม และการเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการโครงการใหม่ของลูกค้าหลังจากที่ได้เลื่อนออกไปในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ คาดการณ์ว่าผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวสะท้อนปัจจัยบวกที่เริ่มส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้น
ด้านนายณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน กล่าวเสริมว่า “ด้วยผลกระทบของสถานการณ์ Covid-19 ต่อตลาดการเงินที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบด้านสภาพคล่องและการบริหารจัดการด้านการเงินแต่อย่างใด โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ออกหุ้นกู้อายุ 2 ปี 10 เดือน และ 10 ปี จำนวนรวม 3,000 ล้านบาท และสำหรับการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในเดือนสิงหาคมนี้ บริษัทฯ ได้เลือกใช้เงินกู้อายุ 2-3 ปี จากสถาบันการเงิน จำนวนรวม 4,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับที่เหมาะสม และมีความพร้อมทางการเงินในการขยายธุรกิจตามแผนงานและเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง”

www.miTihoon.com