CPF ขับเคลื่อนภารกิจสร้างความมั่นคงทางอาหาร ชูนวัตกรรมอาหารปลอดภัย หนุนสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค

177
มิติหุ้น –  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งมอบอาหารคุณภาพดี สะอาด ปลอดภัยสู่ผู้บริโภค เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงขับเคลื่อนกระบวนการผลิต เน้นโภชนาการและสุขภาพที่ดี ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารของประชากรโลกในทุกสถานการณ์ ร่วมสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อม รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมอาหารตามวิถีปกติใหม่ (New Normal)
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร  ให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค  โดยได้กำหนดกลยุทธ์การบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Diet) ปี 2030 ด้วยการสรรหาวัตถุดิบที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ  สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่อาหารอย่างเป็นระบบ วัตถุดิบต้องมาจากแหล่งผลิตที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ดำเนินงานตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกและรองรับพฤติกรรมการบริโภคในอนาคต อาทิ นวัตกรรมเนื้อจากพืช (Plant-based Protein) พร้อมกันนี้ บริษัทฯ มีส่วนร่วมสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นต้นทางวัตถุดิบในกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย และยังพัฒนาคู่ค้าของบริษัทให้ดำเนินงานตามมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อประชากรของโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 บริษัทฯ ยกระดับมาตรการความปลอดภัยในกระบวนการผลิตและสุขอนามัยส่วนบุคคลสู่ระดับสูงสุด ตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ธุรกิจอาหารสัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์ โรงงานแปรรูปและผลิตอาหารสำเร็จรูป ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอในภาวะวิกฤต เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยสำหรับคนไทยและผู้บริโภคทั่วโลก  ซึ่งตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 บริษัทฯยังได้ส่งมอบอาหารปลอดภัยเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลต่างๆ โรงพยาบาลสนาม และส่งอาหารเพื่อดูแลและช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ อาทิ ชุมชน กลุ่มเปราะบาง แรงงานต่างชาติ  เป็นต้น
“การระบาดของโควิด 19 กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืน เน้นสวัสดิภาพสัตว์ แหล่งที่มาของวัตถุดิบที่นำมาปรุงเป็นอาหารต้องตรวจสอบย้อนกลับได้  ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพิ่มทางเลือกเพื่อสุขภาพของผู้บริโภคที่ปรับพฤติกรรมหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของความสะอาดและสุขอนามัยมากขึ้น รวมถึงมีส่วนร่วมในการสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมอาหาร ที่ต้องเร่งปรับตัวตอบโจทย์วิถีปกติใหม่ให้ทันท่วงที” นายวุฒิชัย กล่าว
www.mitihoon.com