คอรัล ไลฟ์ รุกตลาดธุรกิจสีเขียวในอาเซียน หลัง ปตท.ไว้ใจให้สร้างอาคารสำนักงานในโรงแยกก๊าซฯ ที่ 7 ที่มาบตาพุด ให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน

163

มิติหุ้น – คอรัล ไลฟ์ (Coral Life)  เตรียมบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หวังเป็นผู้นำด้านกรีน อิโคโนมี นวตกรรมอาคารประหยัดพลังงานที่ได้รับรองมาตรฐานจากสถาบันชั้นนำจากเยอรมนี เจ้าแรกในภูมิภาค หลังธุรกิจเติบโตประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดดภายใน 5 ปี ล่าสุด ได้รับเลือกเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างอาคารสำนักงานในโครงการโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 7 ของ ปตท. มั่นใจช่วยลูกค้าประหยัดพลังงาน สะสมคาร์บอนเครดิต พร้อมได้คุณภาพอากาศในอาคารที่ดีต่อสุขภาพ คืนสิ่งแวดล้อมสะอาดให้สังคม

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ที่หอศิลปวัฒนธรรม กทม. นาย ซ้าง ซู ดง (Mr. Shan Zu Dong) ซีอีโอบริษัท ไชน่า ปิโตรเลียม ไปป์ไลน์ ไทยแลนด์ (China Petroleum Pipeline – (CPP), Thailand) ,นาย เจมส์ ดูอัน (Mr. James Duan) ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท คอรัล โฮลดิ้ง (Coral Holding) จำกัด และนายเทพฤทธิ์  ทิพย์ชัชวาลวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอรัล ไลฟ์ (Coral Life)  จำกัด ร่วมกันแถลงข่าวการเปิดตัวนวตกรรมอาคารประหยัดพลังงาน หลังบริษัท คอรัล ไลฟ์  จำกัด ได้รับเลือกเป็นผู้ก่อสร้างอาคารสำนักงานในโครงการโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 7 บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มาบตาพุด จ.ระยอง

นาย ซ้าง ซู ดง  กล่าวว่า CPP เป็นบริษัทชั้นนำของโลกในเรื่องการแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซ เราสร้างท่อก๊าซมากว่า 100,000 กม.ทั่วโลก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต้องการสร้างโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 7 ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดและเน้นเรื่องการประหยัดพลังงานและความยั่งยืน ในเรื่องแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซ CPP เชื่อว่าเราสามารถทำได้ เราใช้ทีมวิศวกรออกแบบกว่าร้อยคนที่สำนักงานเมืองเซินเจิ้นทำงานในโครงการนี้ ส่วนเรื่องอาคารประหยัดพลังงาน CPP ได้เลือกให้ บริษัท คอรัล ไลฟ์ จำกัด เป็นผู้รับเหมางานทั้งหมดตั้งแต่ออกแบบทางสถาปัตยกรรม ออกแบบระบบอาคารที่ประหยัดพลังงาน และก่อสร้างอาคาร เนื่องจากมั่นใจในความสามารถและคุณภาพของบริษัทแห่งนี้ และเป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบัน Passive House ของประเทศเยอรมนีที่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นมาตรฐานที่มีการประหยัดพลังงานสูงที่สุดและทำเรื่องคุณภาพอากาศภายในอาคาร

ด้านนาย เจมส์ ดูอัน (Mr. James Duan) กล่าวว่า บริษัท คอรัล ไลฟ์ จำกัด เป็นบริษัทในเครือบริษัท คอรัล โฮลดิ้ง ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านนวตกรรมเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ซึ่งถือเป็นทิศทางใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตและจะส่งผมดีต่อโลกของเรา โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการด้านการพัฒนาอาคารประหยัดพลังงานกับคอนโดมีเนียมในกรุงเทพฯที่ตนได้พัฒนาภายใต้แบรนด์ Circle มานานแล้วกว่า 20 ปี โดยได้ศึกษาทำการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนมั่นใจว่านวตกรรมของ บริษัท คอรัล ไลฟ์ จำกัด จะนำสิ่งที่ดีมาให้แก่ลูกค้า คู่ค้า สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งตนต้องขอขอบคุณ China Petroleum Pipeline, คุณ ซ้าง ซู ดง ที่ได้ให้โอกาส บริษัท คอรัล ไลฟ์ จำกัด รับงานของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้ และยืนยันว่ากลุ่มบริษัท คอรัลโฮลดิ้ง  มุ่งมั่นนำนวตกรรมใหม่ๆ มานำเสนอ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของลูกค้าและสิ่งแวดล้อมที่ดีของสังคมต่อไป

ขณะที่ นาย เทพฤทธิ์  ทิพย์ชัชวาลวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอรัล ไลฟ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 โดยใน 3 ปีแรก ได้ใช้เวลาและลงทุนไปกับการทำวิจัยและพัฒนา ได้มีการติดต่อพูดคุยและเข้าพบกับนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งเรื่อง Material Science และเรื่องอากาศ ได้ศึกษาเทคโนโลยีของญี่ปุ่นและยุโรป เข้าพบบริษัทผู้ผลิตต่างๆมากว่า 40 แห่ง จนในที่สุดได้เลือกทำงานร่วมกับสถาบัน Passive House ที่ประเทศเยอรมนี สถาบันอิสระที่ได้รับการยอมรับในเรื่องอาคารประหยัดพลังงานและคุณภาพอากาศภายใน และสร้างความร่วมมือกับอีก 5 บริษัทผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างและเครื่องกรองอากาศที่เราได้เลือกสรรในต่างประเทศ คือ Saint-Gobain (ฝรั่งเศส), Zehnder (เยอรมนี), Schuco (สวิตเซอร์แลนด์, SIGA (สวิตเซอร์แลนด์) และ NorthGlass (จีน)

ต่อจากนั้นก็ได้สร้างบ้านตัวอย่างเพื่อทดลองว่านวตกรรมที่คิดค้นนั้นใช้ได้จริง โดยสร้างบ้านขนาด 200 ตรม. สองชั้น สามห้องนอน ตั้งอยู่บนถนนกรุงเทพกรีฑา ก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆตามนวัตกรรมของคอรัลไลฟ์ และได้เปิดเครื่องปรับอากาศ เครื่องกรองอากาศตลอด 24ชั่วโมง มาตลอด 3 ปีครึ่งจนถึงทุกวันนี้ ได้มีการเก็บข้อมูลอุณหภูมิและคุณภาพอากาศทั้งภายในและภายนอกบ้าน รวมทั้งการใช้ไฟฟ้า จนพบว่าค่าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าของบ้านหลังดังกล่าวอยู่ที่ 5,400 kwh ต่อปี ซึ่งคิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 2,000 บาทต่อเดือนสำหรับการปรับอากาศและกรองอากาศทุกห้องในบ้านตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน ซึ่งหากเทียบกับบ้านขนาดเดียวกันทั่วไป จะมีค่าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 32,400 kwh ต่อปี ซึ่งคิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน จนเราแน่ใจว่านวตกรรมของเราสามารถประหยัดพลังงานตั้งแต่ 70% ขึ้นไป อุณหภูมิและคุณภาพอากาศภายในอาคารถูกควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติที่ทำงานคู่กับข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์ต่างๆ ให้เย็นสบายและสดชื่นตลอด 24 ชั่วโมง

“ในกรณีของอาคาร Administration building 2,460 sqm ในโรงแยกก๊าซหน่วยที่7 นี้ เราสามารถลดจำนวนปริมาณ BTU ได้ 84% จาก 3,109,600 BTU หากเป็นการสร้างอาคารแบบ Conventional เหลือ 506,000 BTU การใช้พลังงานไฟฟ้าลดจาก 1,497,397 kwh/year เหลือ 379,008 kwh/year หรือลดลง 75% ถ้าคิดเป็นเงินก็ประมาณ 4,700,000 บาทต่อปี นอกจากนั้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังสามารถสะสมคาร์บอนเครดิต  525.6 TON ต่อปี ถ้าคำนวณตามราคาซื้อขายที่ตลาดยุโรปก็จะได้ประมาณ 1,549,971 บาทต่อปี อาคารหลังนี้ก็จะได้รับการรับรองมาตรฐานของ Passive House ของประเทศเยอรมนี” นายเทพฤทธิ์กล่าว

ส่วนเรื่องอากาศภายในอาคารที่มีคุณภาพนั้น นายเทพฤทธิ์ได้อ้างถึงงานวิจัยชื่อ The Impact of Working in a Green Certified Building on Cognitive Function and Health หรือ ผลกระทบที่มีต่อการทำงานในอาคารที่ได้มาตรฐานสีเขียวในด้าน กระบวนการที่สมองใช้ในการรับข้อมูลและตัดสินใจ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Building and Environment ซึ่งสรุปว่า จากการทำวิจัยกับคน 109 คน ที่ทำงานอยู่ใน 10 อาคาร ใน 5 หัวเมืองในสหรัฐอเมริกา คนที่ทำงานอยู่ในอาคารประสิทธิภาพสูง ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียว มีความเข้าใจว่าสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานของตนดีกว่า มีอาการป่วยจากการทำงานในอาคารน้อยกว่า 30% มีกระบวนการที่สมองใช้ในการรับข้อมูลและตัดสินใจ หรือ Cognitive Function สูงกว่า 26.4% และมีคะแนนการนอนหลับสูงกว่า 6.4% เมื่อเทียบกับคนทำงานในอาคารประสิทธิภาพสูงที่ไม่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียว

โดย นายเทพฤทธิ์ได้นำตัวชี้วัดต่างๆ สำหรับมาตรฐานคุณภาพอากาศในอาคารของงานวิจัยนี้ ไม่ว่าจะเป็น การถ่ายเท คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ความชื้น เสียง อุณหภูมิ PM2.5 ฯลฯ มาเทียบกับค่าเหล่านี้ที่เขาเก็บข้อมูลจากบ้านตัวอย่าง พบว่า บริษัท คอรัล ไลฟ์ จำกัด ผ่าน และทำได้ดีกว่าในบางค่า ซึ่งมั่นใจว่าคุณภาพอากาศในอาคารประหยัดพลังงานของ บริษัท คอรัลไลฟ์ จำกัด จะส่งผลดีต่อสุขภาพและประสิทธิภาพของคนในอาคาร

นายเทพฤทธ์ กล่าวต่อว่า เราเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อเข้าสู่ Green Economy โดยเป็นผู้ออกแบบและติดตั้งโทเทิลโซลูชั่น (Total Solution) สำหรับอาคารและบ้านพักอาศัยทุกประเภท ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอยู่ 5 โครงการ

สำหรับ รายได้ของบริษัทในปี 2564 คือ 55 ล้านบาท และในปี 2565 คาดจะมีรายได้ประมาณ 200 ล้านบาท และมี Backlog อีกประมาณ 300 ล้านบาท และเชื่อว่า Business Model ของบริษัทในการเน้นการสร้างความร่วมมือกับผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและอากาศ จะทำให้เราสามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดดอย่างยั่งยืน

“ถ้าให้ผมวางเป้า ผมคิดว่าข้อดีต่างๆของโซลูชั่นของเราที่มีต่อลูกค้า คู่ค้า สังคมและสิ่งแวดล้อม น่าจะทำให้เราสามารถได้ส่วนแบ่งตลาดของการก่อสร้างราว 2.5% ในเวลา 5 ปี ก็คือ 2.5% ของ 1.3 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 32,000 ล้านบาท และเราก็ต้องการจะขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซี่ยน เนื่องจากเราเป็นรายแรกในประเทศเขตร้อนชื้น ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานของสถาบัน Passive House เราได้ส่งข้อมูลที่เราเก็บจากบ้านตัวอย่างไปให้ทางสถาบันทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกับเรา เรามีความร่วมมือกับผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างที่เราเลือกสรร โดยบางเจ้าให้เราเป็นผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซี่ยน” นายเทพฤทธ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายเทพฤทธิ์ ยังชวนให้คิดว่า ถ้าปริมาณ BTU ในกรุงเทพฯ ลดลงไป 80% และการใช้ไฟฟ้าของอาคารลดลงไป 70% จะเป็นยังไงบ้าง และการใช้ไฟฟ้าที่เหลืออีก 30% สามารถตอบโจทย์ด้วยพลังงานทางเลือก ถ้าอย่างนั้น Net Zero ก็เป็นไปได้ สุขภาพของคนกรุงเทพฯ จะดีขึ้น อีกทั้งชวนคิดต่อว่า Climate Change เกิดขึ้นแล้ว และมีราคาที่ทุกคนต้องจ่ายแพงมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม,ไฟป่า,อากาศพิษ,หมอกควัน ส่วน Climate Action นั้น มีราคาถูกกว่า Climate Change เยอะมากและยังได้ผลประโยชน์ต่างๆ อีกทั้งสุขภาพ และเศรษฐกิจ ทั้งได้เชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมทำ Climate Action กับคอรัลไลฟ์

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp