January Effect กับค่าเงินบาท

395

ผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการตลาดหุ้น จะคุ้นเคยกับ Santa Claus Rally และ January Effect เป็นอย่างดี ศัพท์ดังกล่าวสะท้อนความเชื่อที่ว่าตลาดหุ้นจะบวกแรงจากช่วงท้ายปีต่อเนื่องสู่เดือนมกราคม เนื่องจากการปรับสถานะการลงทุนของนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ สร้างความคึกคักให้กับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นได้ไม่น้อย สำหรับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว หากพิจารณาสถิติย้อนหลัง พบว่าค่าเงินบาทในเดือนแรกของปีมีแนวโน้มฟื้นตัวจากระดับปิดของสิ้นปีก่อนหน้า โดยในช่วง 11 ปี ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้น 7 ครั้งเมื่อเทียบกับดอลลาร์และอ่อนค่าลง 4 ครั้งในเดือนมกราคม (กราฟด้านล่าง) อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า January Effect ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ค่าเงินบาทได้ทั้งหมดเสียทีเดียว

ความต้องการถือครองดอลลาร์รวมถึงการปิดสถานะการลงทุนระหว่างรอยต่อช่วงข้ามปีมักส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าในเดือนธันวาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างมาก แต่เมื่อนักลงทุนกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง ปัจจัยชี้นำจะเปลี่ยนจากปัจจัยฤดูกาลกลับมาที่ปัจจัยพื้นฐาน และ Dynamic หรือแรงขับเคลื่อนของตลาดค่าเงินเป็นสำคัญ โดยในปี 2561 ทิศทางนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงเป็นศูนย์กลางซึ่งสร้างความไม่แน่นอนต่อตลาด อีกทั้งแนวโน้มเงินเฟ้อโลกยังเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ตลาดตอบรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ด้วยการเข้าซื้อหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางความกังวลต่อเงินเฟ้อซึ่งอยู่ในระดับต่ำและไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

ในปี 2561 เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งดอลลาร์อ่อนค่าลงถึง 14% เมื่อเทียบกับเงินยูโร อย่างไรก็ดี หากราคาน้ำมันดิบ หรือ ภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวในกลุ่มเศรษฐกิจหลัก ผลักดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเร็วกว่าคาดในปีนี้ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจต้องตัดสินใจถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วขึ้น ซึ่งจะหนุนค่าเงินยูโรและกดดันค่าเงินดอลลาร์ในที่สุด ท่ามกลางกระแสการเริ่มปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติมากขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก ซึ่งหมายความว่าสภาพคล่องส่วนเกินในระบบจะค่อยๆ ลดลง และตลาดการเงินจะผันผวนตามกระแสข่าวที่เข้ามากระทบได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติในสินทรัพย์สกุลเงินบาทเช่นกัน ในขณะเดียวกัน การลงทุนภาครัฐของไทยถือว่ามีสัญญาณที่ดีขึ้น สะท้อนจากความคืบหน้าของการประมูลและการเซ็นสัญญาในหลายโครงการ ซึ่งหากนับเฉพาะโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่าจะอยู่ที่ราวสองแสนล้านบาท ภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยแคบลง จากยอดนำเข้าที่ฟื้นตัวตามการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งจะช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)