โพล…ร้อนๆ

115

เป็นประเด็นร้อน เมื่อ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ “นิด้าโพล” ประกาศลาออกจาก ผอ.นิด้าโพล เมื่อวันจันทร์ที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ทั้งที่เพิ่งเข้ามาเป็นได้แค่ 1 เดือน

โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะถูกสกัดไม่ให้นำเสนอข้อมูลนิด้าโพล ที่มีรายงานว่าเป็นเรื่องผลสำรวจความเห็นประชาชนต่อกรณี “นาฬิกาและแหวนเพชรหรู” ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช.

นิด้าโพล ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความเชื่อมั่นต่อการทำงานตรวจสอบรัฐบาล/คสช ของ ป.ป.ช.” ซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 24 – 25 ม.ค.2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,250 ตัวอย่าง

แต่ทว่า ผลสำรวจดังกล่าว ถูก “ตัดตอน” เนื่องจาก รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีนิด้า สั่งเบรก – ระงับไม่ให้มีการเผยแพร่

            ในที่นี้ “แทงตัวตรง” ขอไม่แตะเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง แม้จะเชื่อว่า คงมีการนำกรณีดังกล่าวไปเป็นที่ถกเถียง และถูกนำไปขยายผลทางการเมืองตามมาในอนาคต โดยเฉพาะด้าน “เสรีภาพทางวิชาการ”

สำหรับ “นิด้าโพล” ได้เริ่มสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเมื่อปี 2518 โดยจัดให้มีการสำรวจประชามติเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2518 โดยการสำรวจการเลือกตั้งได้จัดทำ 2 ครั้ง ครั้งแรก เป็นการสำรวจเพื่อให้ทราบถึงความสนใจต่อการเลือกตั้ง และครั้งที่ 2 เป็นการทำนายผลการเลือกตั้ง โดยจัดลำดับคะแนนของผู้สมัครแต่ละคน ซึ่งผลที่ได้จากการสำรวจเมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่ามีความใกล้เคียงกันอย่างมาก

อีกหนึ่งโพลที่สำรวจความคิดเห็นทางการเมืองบ่อยครั้ง นั่นคือ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่แรกเริ่มเดิมที มี ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ เป็นผู้อำนวยการ แต่ปัจจุบันมีการปรับโครงสร้าง ดร.สุขุม ขึ้นเป็นไป “ที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการ” และมี “นายณัฐพล แย้มฉิม” เป็นผู้อำนวยการ

สวนดุสิตโพลออกผลสำรวจความคิดเห็นแต่ละครั้ง เรียกเสียงซี้ดซ้าดได้อย่างมาก เพราะผลสำรวจมักจะแทงใจดำฝ่ายการเมืองอยู่ร่ำไป และก่อนหน้านั้น สวนดุสิตโพลถูกโยงว่าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ทางสวนดุสิตโพลได้ออกมาแสดงจุดยืนถึงความมีอิสระทางด้านวิชาการเช่นเดียวกับโพลอื่นๆ

“สวนดุสิตโพล” เป็นงานภาคสนามที่นักศึกษาวิชาเอกบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (เมื่อก่อนคือ วิทยาลัยครูสวนดุสิต) ใช้เป็นสิ่งที่สร้างเสริมทักษะและประสบการณ์ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ทั้งการจัดหาข้อมูล การรวบรวม การจัดระบบ และวิเคราะห์จากข้อมูลดิบ จนถึงขั้นตอนการปรุงแต่ง และเผยแพร่ออกมาในรูปของ “สารนิเทศ” (INFORMATION) โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งนั่นคือ จุดกำเนิดของ “สวนดุสิตโพล”

 

แต่หากต้องการรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ด้านเศรษฐกิจ” ต้อง “ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” หรือ “หอการค้าโพล” ภายใต้การนำธงของ “ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย” โดยมีโพลที่เด่นๆ เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่น รวมทั้งการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนในเทศกาลต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากปัญญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เกิดการชะลอตัวในปี 2539 และมีการปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทให้เป็นไปตามกลไกราคาเมื่อปี 2540 ซึ่งนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงได้กำเนิดขึ้น และเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล วิจัยและพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจ และสร้างเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่สามารถบอกภาวะเศรษฐกิจล่วงหน้าได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ภาครัฐ และภาคเอกชนสามารถเตรียมพร้อมรับมือแก้ไขสถานการณ์ต่างๆได้ทันการณ์ และมีการแถลงผลสำรวจตั้งแต่ครั้งแรก จนถึงปัจจุบัน ล่วงเลยเข้าสู่ปีที่ 21 แล้ว

นอกจากโพลที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมี “กรุงเทพโพล” ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ” และ “รังสิตโพล” ของมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งความถี่ในการออกผลสำรวจจะไม่มากเท่า 3 โพลข้างต้น

00 “บิ๊กเซ็ต” 00