ตลาดพักฐาน พื้นฐานไม่เปลี่ยน

309

SET index สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับลดลงแรง หลุดแนวรับสำคัญ 1800 จุด เข้าสู่การพักฐาน เราประเมินเป็น Sentiment ลบที่เกิดขึ้นจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่นักลงทุนเริ่มทำการขายทำกำไร โดยใช้เหตุผลเรื่องอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond yield) ที่ปรับขึ้นแรง จากการคาดการณ์ว่าที่ประชุม Fed จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ สำหรับประเด็นเรื่อง ความสัมพันธ์ของ Bond yield กับตลาดหุ้น เราขอพื้นที่อธิบายทางวิชาการสักเล็กน้อย

ทฤษฏีทางการเงินที่ว่าด้วย Bond yield กับ Earnings yield (หรือส่วนกลับของ PE ratio) นั้น มีชื่อเรียกในทางวิชาการว่า “Fed Model” และในกลุ่มนักวิชาการของสหราชอาณาจักร อาจเรียกว่า “Gilt equity yield ratio” สำหรับประเทศไทยมักเรียกว่า Earnings yield gap นั่นเอง

โดยทฤษฏีนี้สรุปได้ 2 แนวคิดด้วยกัน คือ 1) ด้านการประเมิน Valuation หุ้น โดยสมมติฐานให้ ปัจจัยอื่นๆคงที่ Bond yield ที่ปรับขึ้น หมายถึง Cost of equity ที่ปรับขึ้นนั่นเอง ดังนั้นสำหรับการประเมินราคาเหมาะสม ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม (PE, DDM, DCF, RIM, etc) Cost of equity ที่ปรับขึ้น เท่ากับ มูลค่าหุ้นที่ลดลงนั่นเอง และ 2) ด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน นั่นคือ เมื่อผลตอบแทนจากสินทรัพย์ใดสูงกว่า เงินทุนก็จะเกิดการเคลื่อนย้ายออกไปจากสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่า กรณีนี้ หาก Bond yield สูงกว่า Earnings yield มากๆ (ส่วนต่างของ Bond yield และ Earrings yield อาจพิจารณาเป็น Market Risk Premium) นักลงทุนก็จะขายหุ้นไปเข้าพันธบัตรนั่นเอง

ดังนั้น หากนำทฤษฏีข้างต้นมาวิเคราะห์ตลาดหุ้นไทยว่า การปรับลงขณะนี้ เป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed สมเหตุสมผลหรือไม่ จะได้ว่า 1) แนวคิดด้านการประเมิน Valuation หุ้น จากประสบการณ์การเป็นนักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมาหลายปี นักวิเคราะห์ฯ จะใช้ Bond yield ในประเทศไทยเป็นตัวแทน Risk Free มากกว่าการใช้ Bond yield ของสหรัฐฯ และในความเป็นจริง อัตราดอกเบี้ยประเทศใดๆก็ตาม ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นตามกัน เพราะขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินของธนาคารกลางของแต่ละประเทศ จึงเห็นได้ว่า Bond yield ไทย ขณะนี้ไม่ได้ปรับขึ้นตาม Bond yield สหรัฐฯ ดังนั้นสำหรับประเด็นนี้ เราจึงมีมุมมองว่า ไม่ได้กระทบต่อการ Valuation หุ้นไทยโดยตรง

2) แนวคิดเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุน ประเด็นแรกคือ เงินทุนเคลื่อนย้ายจาก “หุ้นไทย” ไปยัง “พันธบัตรไทย” ขณะนี้เราประเมินว่ายังไม่น่าสนใจ เนื่องจาก Earnings yield gap ตอนนี้ยังไม่จูงใจ เพราะ Bond yield ไทยยังไม่ได้ปรับขึ้นตามสหรัฐฯ และเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจาก “หุ้นไทย” ไปยัง “พันธบัตรสหรัฐฯ” ประเด็นนี้หากพิจารณาเม็ดเงิน Fund flow ปีที่ผ่านมา ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปถึง 795.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เราเชื่อว่าแรงขายจากต่างชาติ ไม่น่าจะมีผลต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก

โดยสรุป เราประเมิน ว่าการพักฐานของตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมานั่น เกิดจาก 1) Sentiment ลบที่เกิดจากตลาดหุ้นต่างประเทศ 2) นักลงทุนขายทำกำไร 3) ราคาน้ำมันเริ่มปรับฐาน ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยไม่เปลี่ยนแปลง ล่าสุด พรบ. โครงการ EEC ผ่านที่ประชุม สนช. แล้ว เราประเมินว่าจะเป็นปัจจัยหนุน Sentiment การลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในประเทศ ประเมิน SET index แนวรับ 1760 จุด และ 1740 จุด / แนวต้าน 1800 จุด

หุ้นเด่น: กลุ่มนิคมฯ AMATA, WHA (รับ พรบ EEC) / กลุ่มค้าปลีก CPALL, COM7, SF (รับเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นผู้บริโภค), กลุ่มสื่อ MONO (ผ่านจุดต่ำสุดในปีก่อน), กลุ่มพลังงาน SGP (PE ต่ำ 10 เท่า และดีมานด์แก๊สในจีนยังโตเด่น), หุ้นเล็กมีสตอรี่ SPPT, SIMAT (ปีนี้ Turnaround และมีดีลซื้อกิจการ)

 

สุโชติ ถิรวรรณรัตน์

ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ(ประเทศไทย)