ปมร้อนอิตาลีคลี่คลายแต่ไม่ควรมองข้าม

166

จุดสนใจของตลาดการเงินโลกในระยะนี้ดูเหมือนว่าจะสลับกันไปมา ระหว่างความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และความเสี่ยงต่อการขยายวงของสงครามการค้าโลก ปรากฎว่าในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เหตุการณ์ความปั่นป่วนทางการเมืองของอิตาลีกลับเข้ามากระทบบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกอีกครั้ง

หลังจากผลการเลือกตั้งทั่วไปในอิตาลีเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน พรรคประชานิยมสองพรรค ได้แก่ พรรคไฟว์-สตาร์ มูฟเมนท์ที่มีแนวคิดต่อต้านยุโรป และพรรคลีกซึ่งมีแนวคิดขวาจัด พยายามจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยอาจจะขอให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ยกหนี้ 2.5 แสนล้านยูโรให้กับอิตาลี ความกังวลดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินยูโรร่วงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือน ตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดตัวลง

ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลอิตาลีพุ่งขึ้น โดยส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 2 ปีของอิตาลีและเยอรมันทะยานขึ้นแตะระดับ 3.21% ในวันที่ 29 พฤษภาคม จาก 1.59% ในวันก่อนหน้า (กราฟด้านล่าง) สะท้อนค่าความเสี่ยงทางการเมือง และรื้อฟื้นความทรงจำของนักลงทุนเกี่ยวกับวิกฤตหนี้สาธารณะซึ่งปะทุขึ้นในกลุ่มประเทศชายขอบ (Peripheral) ของยูโรโซนเมื่อ 6 ปีก่อน ประเทศดังกล่าวรวมถึง กรีซ สเปน อิตาลี โปรตุเกส และไอร์แลนด์ มีวินัยทางการคลังหย่อนยานอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำซึ่งใช้สกุลเงินยูโรร่วมกัน อาทิ เยอรมัน ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์

อิตาลีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของกลุ่มยูโรโซน แน่นอนว่าข่าวเชิงลบจะนำมาซึ่งความเสี่ยงที่รุนแรงกว่ากรณีของกรีซหลายเท่าตัว อีกทั้งความกังวลหลักของตลาด คือ เหตุการณ์ที่อิตาลีอาจจะออกจากยูโรโซนในระยะข้างหน้า เรามองว่าอิตาลีจะยังคงตัดสินใจอยู่ในยูโรโซนต่อไป และเงินยูโรมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในช่วงหลังของปีหากสถานการณ์ในอิตาลีไม่ได้กดดันให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ต้องเลื่อนแผนยุติมาตรการ QE

อย่างไรก็ตาม ตลาดโลกจะผันผวนมากขึ้นเป็นระยะ แม้ว่าข้อตกลงของพรรคร่วมรัฐบาลจะยุติทางตันทางการเมืองในอิตาลีได้ หลังนายจูเซปเป คอนเต เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิตาลีเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน โดยถือเป็นผู้นำรัฐบาลที่มีแนวคิดต่อต้านยุโรป ตลาดยังคงต้องติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับการท้าทายกฎสหภาพยุโรปด้านวินัยการคลังของรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งวางแผนจะใช้จ่ายเงินจำนวนมาก ทั้งนี้ หากอิตาลีจัดการเลือกตั้งอีกครั้ง มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นว่าการเลือกตั้งรอบใหม่อาจจะปูเส้นทางไปสู่การทำประชามติเรื่องสมาชิกภาพของอิตาลีในยูโรโซนก็เป็นได้

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com