B20 เอกชนได้ประโยชน์จริงหรือ?

122

 

โครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 เพื่อช่วยดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์ม สร้างเสถียรภาพด้านราคา และเพื่อใช้สำหรับรถบรรทุกสินค้าและรถโดยสารสาธารณะ ตั้งแต่เริ่มมาตรการเมื่อวันที่ 2 ก.ค.61 ที่ผ่านมา เริ่มมีเสียงสะท้อนจากภาคเอกชน ทั้งผู้ประกอบการผผลิตไบโอดีเซล และผู้ให้บริการรถขนส่ง รวมถึงผู้ผลิตและจำหน่ายรถบรรทุก

โดยบอกว่า การปรับสภาพเครื่องยนต์เพื่อรองรับการใช้น้ำมัน B20 นั้น มีต้นสูง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน โดยมีบางบริษัทได้แจ้งปฏิเสธการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว และอาจจะมีอีกหลายบริษัทที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถบรรทุก ไม่ตอบรับเข้าร่วมโครงการ

หากมีผู้ตอบรับไม่มากกับมาตรการส่งเสริมใช้ B20 ในรถบรรทุกสินค้า รถโดยสารสาธารณะ อาจจะทำให้การดูดซับน้ำมันปาล์มได้ไม่ตามเป้า

แม้ราคาขายปลีก B20 ถูกกว่าดีเซลเกรด B7 ถึง 3 บาทต่อลิตร ก็ไม่ดึงดูดใจให้ลงทุนปรับสภาพเครื่องยนต์ เพราะเอกชนคำนวณแล้ว ไม่คุ้มทุนนั่นเอง

จากการสอบถามผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน และผู้ผลิตและจำหน่ายปาล์มน้ำมัน ก็ได้บอกว่า มาตรการส่งเสริมใช้ B20 ไม่ได้ส่งให้เกิดประโยชน์ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยกับผู้ประกอบการ พูดง่ายๆ คือ ไม่ได้ทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมาก จนไปหนุนยอดขายเติบโต แต่อาจจะเกิดประโยชน์ในแง่ภาพลักษณ์ขององค์กร หรือส่งต่อหุ้นกลุ่มผู้ผลิตปาล์มน้ำมันใช้เป็นเครื่องมือปั่นหุ้นเพียงช่วงระยะสั้นๆ นั่นเอง

ดังนั้น ภาครัฐจะส่งเสริมอย่างจริงจัง ก็ต้องเข้าไปสนับสนุนการปรับสภาพเครื่องยนต์ให้ผู้ผลิตและจำหน่ายรถบรรทุก เพื่อให้เกิดการตอบรับเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมใช้ B20 กันมากขึ้น แล้วต่อยอดสู่การบังคับใช้อย่างจริงจังต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อกลุ่มเกษตรกรสวนปาล์ม  และกลุ่มผู้ประกอบการผลิตปาล์มน้ำมัน โรงกลั่น
ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า การส่งเสริมใช้น้ำมันดีเซลเกรด B20 แบบสมัครใจ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ และจะสามารถยกระดับการบังคับใช้ได้ในอนาคตอย่างไร

          “บิ๊กเซ็ต”