ดอกเบี้ยนโยบายใกล้ถึงจุดเปลี่ยน คาดปรับขึ้นก่อนสิ้นปี

69

พูดกันมาสักพักเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยท่ามกลางวัฎจักรขาขึ้นของดอกเบี้ยโลกนำโดยสหรัฐฯ แต่ดูเหมือนว่าในช่วงที่ผ่านมา ผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดยังไม่ปักใจเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในระยะ 6 เดือนข้างหน้า จนกระทั่งเมื่อช่วงสายของวันที่ 20 สิงหาคม 2561 สภาพัฒน์ฯ ประกาศข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2/2561 เติบโตแข็งแกร่งเกินคาดที่ 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวเลขการขยายตัวสำหรับไตรมาส 1/2561 เพิ่มขึ้นเป็น 4.9%

โดยอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกว่า ไทยไม่สามารถฝืนกระแสดอกเบี้ยขาขึ้นของโลกได้ แต่การปรับขึ้นในอนาคตจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป นับจากวันนั้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยช่วงอายุ 2 ปีดีดตัวขึ้นทะลุจุดสูงสุดเดิมของรอบ

การประชุมกนง. เมื่อวันที่ 19 กันยายนถือเป็นนัดสำคัญในแง่จิตวิทยาสำหรับตลาดซึ่งเฝ้าจับสัญญาณการสื่อสารจากผู้ดำเนินนโยบายในเรื่องความชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยในระยะถัดไป การคงดอกเบี้ยรอบล่าสุดมีเสียงที่ไม่เป็นเอกฉันท์เพิ่มขึ้นจากการประชุมสามครั้งก่อนหน้าซึ่งมีกรรมการเพียงรายเดียวเห็นควรให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.75% โดยในรอบนี้มีกรรมการ 2 รายสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย ปฏิกิริยาของตลาดสะท้อนการรับรู้คาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงขึ้นมาอีกเล็กน้อย แต่ในภาพรวมนักลงทุนยังไม่แน่ใจว่าทางการจะปรับดอกเบี้ยขึ้นภายในปีนี้หรือไม่

ต้องยอมรับว่าประเด็นดอกเบี้ยนโยบายเชื่อมโยงหลายบริบท โดยกลุ่มที่เห็นว่าดอกเบี้ยจะยังไม่ขึ้นในเร็วๆ นี้มองว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ เงินบาทแข็งค่ากว่าหลายสกุลเงินคู่ค้า ภาวะเศรษฐกิจที่แม้จะโตอย่างกระจายตัวมากขึ้นแต่บางภาคธุรกิจยังดูไม่สดใสนัก อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งความกังวลที่ว่าการขึ้นดอกเบี้ยก่อนเลือกตั้งอาจส่งผลกระทบทางการเมือง

ขณะที่เราเชื่อว่ากนง.มีแนวโน้มเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้ซึ่งเหลือการประชุมอีก 2 รอบ โดยระดับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน เริ่มไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง สภาวะแวดล้อมที่ดอกเบี้ยถูกตรึงไว้ที่ระดับต่ำมากเป็นระยะเวลานานเกินไปเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพในระยะยาว เช่น พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยประเมินความเสี่ยงจากการลงทุนต่ำเกินจริง รวมถึงการแยกมิติของเงินเฟ้อออกเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง (Structural) และวัฎจักร (Cyclical) ยิ่งไปกว่านั้น เรามองว่าแนวโน้มการส่งออกของไทยถูกชี้นำโดยภาวะการค้าโลกมากกว่าค่าเงิน การทยอยขึ้นดอกเบี้ยเปรียบเสมือนการปรับสมดุลนโยบายทางการเงินมากกว่าการคุมเข้มทางการเงิน

โดยเราคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะแตะระดับ 2.00% ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งยังถือว่าเป็นเส้นทางการขยับขึ้นอย่างช้าๆ จากระดับต่ำมาก ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวที่ 1.50% นับตั้งแต่ปี 2558 ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 2554

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com