ส่งออกไทยติดลบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน หมดแรงหรือไปต่อ

168

ประเดิมสัปดาห์นี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนกันยายนหดตัว 5.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบกว่าปีครึ่ง นำโดยสินค้ากลุ่มรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง และแผงวงจรไฟฟ้า ขณะที่ตลาดหลักอย่างจีนหดตัว 14.1% ทางการอธิบายการลดลงอย่างพลิกความคาดหมายของยอดส่งออกเดือนล่าสุดว่าเป็นผลจากฐานที่สูงในปี 2560 ข้อพิพาททางการค้าและเศรษฐกิจของคู่ค้าเริ่มประสบปัญหา ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี การส่งออกขยายตัว 8.1% ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 15.2%

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ส่งออกลดลงมาก คือ ยอดการส่งออกทองคำที่ทรุดลงจากกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ในเดือนกันยายน 2560 เหลือเพียง 260 ล้านดอลลาร์ในเดือนกันยายน 2561 ตามราคาทองคำในตลาดโลกซึ่งเป็นขาลง หากตัดผลกระทบของทองคำแล้ว ยอดส่งออกจะลดลง 0.7% เทียบปีต่อปี (ภาพด้านล่าง) ดังนั้นประเด็นฐานเปรียบเทียบสูงจึงไม่น่ากังวลมากนัก

ขณะที่เราเพิ่มความระมัดระวังเกี่ยวกับความรุนแรงของสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะกระทบการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยกระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าในเดือนกันยายน ปัจจัยความตึงเครียดทางการค้าถ่วงมูลค่าส่งออกลง 1.8% จากที่หดตัวทั้งสิ้น 5.2% ขณะที่ทางการพยายามจะบรรเทาผลกระทบนี้ด้วยการส่งเสริมให้มีการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขั้นกลางไปยังตลาดสหรัฐฯ เพื่อแย่งส่วนแบ่งจากจีน ซึ่งเราคิดว่าอาจช่วยกระตุ้นธุรกิจส่งออกได้ในบางกลุ่มสินค้า

สำหรับนัยสำคัญต่อตลาดการเงิน เราประเมินว่าเงินบาทจะยังคงแกว่งตัวในทิศทางที่แข็งค่าเล็กน้อย และคงเป้าหมายค่าเงินบาทสิ้นปี 2561 ไว้ที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนระหว่างทางตามปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศ อาทิ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และค่าเงินหยวน รวมถึงกระแสข่าวต่างๆ ที่เข้ามากระทบ Sentiment รายวัน ท่ามกลางการปรับสมดุลนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ ซึ่งสร้างความอ่อนไหวต่อการตัดสินใจของนักลงทุน ขณะที่การโยกย้ายเงินทุนมีลักษณะฉับพลันมากขึ้น การป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินจึงจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจจริง

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มีมุมมองเช่นเดิมว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพซึ่งเริ่มสะสมความเปราะบางจากภาวะแวดล้อมที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากมานาน อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าข้อมูลการค้าเดือนกันยายนแม้จะเป็นตัวเลขเพียงเดือนเดียว เริ่มส่งสัญญาณที่ไม่สู้ดีนักต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป ขณะที่ตลาดมองว่าการค้าโลกจะเข้าสู่วัฎจักรชะลอตัว

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ

ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com