Inverted yield curve กับความกลัวเศรษฐกิจโลกชะลอ

96

ดัชนี SET index สัปดาห์ที่ผ่านมาช่วงต้นสัปดาห์ฟื้นตัวต่อเนื่องได้ตามคาด และทะลุแนวต้านแรกที่ประเมินไว้ที่ 1660 จุดได้ แต่ช่วงปลายสัปดาห์ตลาดหุ้นโลกกลับมากังวลต่อโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หลังเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “Inverted yield curve” (จะอธิบายในส่วนถัดไป) อย่างไรก็ดีสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีนเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเริ่มชะลอ รวมทั้งสถาณการณ์ในประเทศไทยเองที่มีความคืบหน้าเรื่องการเลือกตั้งดีขึ้น น่าจะหนุนให้ดัชนี SET index Outperform ได้ในเดือน ธ.ค.61 โดยประเมินแนวรับสัปดาห์นี้ 1640 จุด / แนวต้าน 1680 – 1700 จุด

ผมขออธิบายถึงประเด็นที่กำลังถูกพูดถึงกันมากในขณะนี้ซึ่งก็คือเรื่อง Inverted yield curve ว่ามันคืออะไร และส่งสัญญาณอย่างไรต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้น ก่อนหน้านี้เรากังวลกันในเรื่องของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งจะกระทบต่อ i) Valuation ของตลาดหุ้น และ ii) การเคลื่อนย้ายเงินทุน แต่ล่าสุดเริ่มเกิดสถานการณ์ใหม่ ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯระยะยาว (10 ปี) หรือ Bond yield ปรับตัวลงแรงขณะที่อัตราตอบแทนตั๋วเงินคลังสหรัฐฯระยะสั้น (3 เดือน) T-Bill ยังปรับขึ้นต่อเนื่อง สถาณการณ์นี้ทำให้ Yield curve เกิดรูปร่างที่ผิดปกติไป หรือที่เรียกว่า Inverted yield curve ซึ่งในทางทฤษฏีเศรษฐศาสตร์เราจะกังวลต่อสถาณการณ์ที่ผิดปกติในลักษณะนี้ว่ามีความเสี่ยงที่ภาวะเศรษฐกิจในอนาคตจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession ได้ โดยทฤษฏีนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกๆเมื่อปี 2539 โดยนักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า Arturo Estrella และ Frederic S. Mishkin โดยสรุปงานวิจัยฉบับนี้คือ ส่วนต่างของ Bond yield (10 ปี) กับ T-bill rate สามารถนำมาพยากรณ์ความน่าจะเป็นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 2 ถึง 6 ไตรมาส ข้างหน้า และต่อมาในปี 2545 นักวิชาการชื่อ Bruce G. Resnick และ Gary Shoesmith ได้ทำการวิจัยฯพบว่าโมเดลการพยากรณ์ของ Estralla และ Mishkin ปี 2539 นั้น สามารถนำมาปรับปรุงใช้พยากรณ์โอกาสที่ตลาดหุ้นจะเข้าสู่ภาวะหมีได้อีกด้วย และล่าสุด เฟด สาขานิวยอร์ค Update ข้อมูลล่าสุด ณ วัน 6 ธ.ค.61 โดยใช้โมเดลการพยากรณ์ของ Estralla และ Mishkin ปี 2539 เป็นต้นแบบ พบว่าโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้านั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่ที่ 15.76% สูงที่สุดตั้งแต่ผ่านพ้นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 สถานการณ์นี้จึงทำให้นักลงทุนในสหรัฐฯเกิดความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2562 นั้นเอง อย่างไรก็ดีตัวเลขค่าความน่าจะเป็นดังกล่าวผมเชื่อว่าเป็นเพียงตัวเลขที่ชี้ถึง “โอกาส” ที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้เป็นตัวระบุว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นตัวเลขค่าความน่าจะเป็นนั้นจึงอาจเปรียบได้ว่าเป็นเหมือนเป็นค่าดัชนีประเภทหนึ่ง คล้าย VIX index ที่ตลาดหุ้นมักจะมีความสัมพันธ์กันในเชิงตรงข้ามนั้นเอง นักลงทุนจึงควรที่จะติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆอย่างใกล้ชิดมากขึ้น แต่ไม่ควรที่จะตื่นตระหนกจนทำให้เสียโอกาสการลงทุนไป

สำหรับสถานการณ์ลงทุน 3 – 6 เดือนนั้นผมเชื่อว่ายังมีโอกาสสำหรับการลงทุนอยู่ เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว, สงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน ที่พักยก 90 วัน และมีโอกาสเริ่มการเจรจากันใหม่ภายในช่วงเวลาดังกล่าว, และการเลือกตั้งทั่วไปของไทย ที่น่าจะหนุน Sentiment การลงทุนในช่วง 1H62 ได้

เราจึงแนะนำ นักลงทุน เลือกซื้อลงทุนหุ้นเป็นรายตัวที่แนวโน้มผลการดำเนินงานยังดี หรือมี ธีมการลงทุนเฉพาะตัว เช่น กลุ่มรับเหมาฯ (CK, STEC, SEAFCO, PYLON) ที่คาดจะรู้ผลการประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ภายในเดือน ธ.ค.นี้ / กลุ่มท่องเที่ยว (AOT, ERW, SPA) ที่คาดว่าจะผ่านช่วงที่แย่ที่สุดไปแล้ว / กลุ่มค้าปลีก (CPALL, COM7, ROBINS, SF) ที่คาดว่าความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งจะช่วยหนุน Sentiment การบริโภคในประเทศ

www.mitihoon.com