JKN ขายคอนเทนต์ข้ามชาติ เล็งย้ายเข้าSETเสริมแกร่ง (5/03/62)

299

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย หรือ JKN ทำธุรกิจจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ โดย “นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า ปี 62 ตั้งเป้ารายได้โต 20% จากปีก่อนที่มีรายได้ที่ 1,422 ล้านบาท

ทุ่มงบ900ล.-รุกตปท.
โดยบริษัทมีแผนขยายตลาดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์เพิ่มมากขึ้น ด้วยการตั้งงบลงทุนราว 900 ล้านบาท เพื่อใช้ในการซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์เพิ่มเติม 800 ล้านบาท , ใช้ลงทุนใน JKN CNBC 50 ล้านบาท และอีก 50 ล้านบาท ใช้ปรับปรุงระบบภายใน

ทั้งนี้บริษัทมีแผนขยายตลาดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ไปยังต่างประเทศมากขึ้น ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย บรูไนและไต้หวัน เนื่องจากตลาดต่างประเทศเป็น Blue Ocean ซึ่งปีนี้คาดว่าสัดส่วนรายได้ต่างประเทศจะเพิ่มเป็น 30% จากปีก่อนมีสัดส่วนมากกว่า 20% เพราะการทำตลาดในประเทศเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา

ดันJKN CNBCขึ้นจอ
ส่วนการดำเนิน “ธุรกิจผลิตคอนเทนต์รายการข่าว” ภายใต้แบรนด์ JKN CNBC ซึ่งคาดว่าช่วงเดือน มิ.ย.นี้ จะสามารถเริ่มออกอากาศได้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับทีวีดิจิทัลหลายช่อง คาดว่าจะสรุปรายละเอียดได้ในเร็วๆ นี้ จากเดิมที่จำหน่ายให้แก่ช่อง 3 และช่อง Bright TV โดยธุรกิจนี้ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้คิดเป็น 3-5% ของรายได้รวม JKN ส่วนการเป็นตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ละครช่อง 3 บริษัทมีแผนขยายตลาดในมาเลเซีย อินโดนีเซียและไต้หวันเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่ได้จำหน่ายเพียงฟิลิปปินส์เท่านั้น

ลุยออกหุ้นกู้-จ่อเข้าSET
นอกจากนี้อยู่ระหว่างพิจารณาการออกหุ้นกู้หลักร้อยล้านบาท เพื่อใช้ทำโปรเจ็กต์ซีรีย์ “สยามรามเกียรติ์” โดยวงเงินนั้นขึ้นอยู่กับวงเงินการลงทุนร่วมกันกับพันธมิตรจากอินเดีย ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีวงเงินหุ้นกู้ซึ่งผ่านอนุมัติจากผู้ถือหุ้น 1,500 ล้านบาท โดยใช้ออกหุ้นกู้ไปแล้ว 900 ล้านบาท และยังมีวงเงินเหลืออีก 600 ล้านบาท

พร้อมกันนี้บริษัทเตรียมยกระดับย้ายเข้า SET ในปี 63 จากปัจจุบันอยู่ในตลาด mai มีทุนจดทะเบียนประมาณ 270 ล้านบาท เพื่อเพิ่มมูลค่าและความน่าเชื่อถือให้กับบริษัท ให้เป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนสถาบันและต่างชาติมากขึ้น

ลุยเทรดตลาดสิงคโปร์
สำหรับ 3-5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้ามีสัดส่วนรายได้ต่างเพิ่มเป็น 50% และยังสนใจศึกษาแผนเข้าจดทะเบียนในสิงคโปร์ด้วย รวมถึงตั้งบริษัทย่อยในต่างประเทศ เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางในการซื้อขายคอนเทนต์ และ คาดหวังการเป็นผู้ส่งออกคอนเทนต์สื่อเป็นอันดับ 5 ในอนาคต จากปัจจุบันอันดับ 1.เกาหลี 2.อินเดีย 3.จีนและ 4.ญี่ปุ่น