EIC SCB เดาใจ กนง.ขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อย่างมาก 1 ครั้งในปีนี้ แต่มีโอกาสน้อยลงหลังปรับลดจีดีพี

230

มิติหุ้น – ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ต่อปี โดย กนง. เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อให้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพียงพอต่อการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ประกอบกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศที่สูงขึ้นในปัจจุบัน จึงคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อรอประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่างๆให้ชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ อีไอซีมองว่า กนง. จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อย่างมาก 1 ครั้งในปีนี้ โดยขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ ส่วนจังหวะในการปรับขึ้นน่าจะอยู่ในช่วงครึ่งหลังของปีเพื่อลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ในภาพรวม อีไอซีเชื่อว่า กนง. ยังมีความตั้งใจที่ทยอยลดระดับความผ่อนคลายของนโยบายการเงินลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน แต่ต้องชั่งน้ำหนักกับผลกระทบด้านลบที่จะมีต่อเศรษฐกิจ

โดยอีไอซีประเมินว่า จังหวะเวลาที่ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากมีความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การบริหารโดยรัฐบาลชุดใหม่ เพราะถึงแม้ว่าการเลือกตั้งจะสิ้นสุดลงในอาทิตย์นี้ แต่การจัดตั้งรัฐบาลยังมีความไม่แน่นอนและอาจกินเวลาถึงเดือนมิถุนายน กนง. จึงน่าจะรอประเมินนัยของการเลือกตั้งต่อเศรษฐกิจก่อน

นอกจากนี้ อีไอซี ประเมินว่า โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ลดน้อยลงกว่าเดิมหลังมุมมองของ กนง. ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจปรับแย่ลงสะท้อนจากประมาณการเศรษฐกิจที่ถูกปรับลง นอกจากนั้น อีกปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ กนง. ไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ได้คืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพราะถึงแม้ กนง. จะยังคงประมาณการสำหรับปีนี้ไว้ที่ 1% เท่าเดิม แต่อีไอซีมองว่า มีโอกาสสูงที่เงินเฟ้อทั่วไปจะหลุดขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1% ต่อปีได้จากราคาพลังงานและราคาอาหารสดที่มีแนวโน้มจะต่ำกว่าปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากการขึ้นดอกเบี้ยถูกชะลอออกไป กนง. ก็จะให้ความสำคัญมากขึ้นต่อการใช้มาตรการการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ในการดูแลความเปราะบางเฉพาะจุด