RATCH ปรับกลยุทธ์หนุนโต ขยายฐานจากไฟฟ้าสู่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เล็งร่วมประมูลงานรถไฟฟ้า-มอเตอร์เวย์ 

378

มิติหุ้น – RATCH ปรับกลยุทธ์หนุนโต ขยายฐานจากไฟฟ้าสู่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซุ่มคุยพันธมิตรลงทุนโรงไฟฟ้าพื้นที่ตะวันตก 2 โรง 1,400 เมกะวัตต์ คาดเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ไตรมาส 2 นี้ เล็งร่วมประมูลงานรถไฟฟ้า-มอเตอร์เวย์

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. ราช กรุ๊ป หรือ RATCH ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า โดยนายกิจจา  ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เผยว่า บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ ขยายฐานการเติบโตจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าไปยังระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน รองรับโอกาสการลงทุนภายในประเทศจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงาน และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (พีดีพี 2018)

ทั้งนี้ บริษัทยังคงกำหนดให้ธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นธุรกิจหลัก และบริษัทมั่นใจในศักยภาพความพร้อมที่จะลงทุนตามแผนพีดีพี ฉบับใหม่ตั้งแต่ปี 61-80 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกิจการของบริษัทให้บรรลุเป้าหมายที่ 200,000 ล้านบาทในปี 66 ส่วนการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ตั้งเป้าว่าในปี  66 จะมีสัดส่วนการลงทุนประมาณ 20% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด  โดยตามแผนการลงทุนปี 62 คาดว่าจะมีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ในพื้นที่ตะวันตกขนาดกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรมาร่วมลงทุน คาดสามารถลงนามเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ในไตรมาส 2/62  และเตรียมลงทุนโครงการขนาดเล็กในไทยอีก 1 โครงการ

นอกจากนี้ ยังคงมองหาโอกาสลงทุนในต่างประเทศต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น  สปป.ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และฟิลิปปินส์ โดยอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดและเจรจาการร่วมลงทุนกับพันธมิตรในต่างประเทศ 6 โครงการ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังสนใจโครงการรถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ที่กำลังจะเปิดประมูลในอนาคต รวมทั้งธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี Internet of Things และโทรคมนาคม

ทั้งนี้ ในปี 62 บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้า 3 แห่งที่จะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์และรับรู้รายได้ กำลังผลิตติดตั้งตามการถือหุ้นรวม 179.73 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คอลลินส์วิลล์ ออสเตรเลีย  โรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย ในสปป.ลาว ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 4 โครงการรวม 486.79 เมกะวัตต์

www.mitihoon.com