กลุ่ม ปตท. ร่วมเป็นแม่ทัพนำอุตฯ ไทยเข้าถึง “ระบบปัญญาประดิษฐ์–หุ่นยนต์”  ในงาน MRA 2019

248

มิติหุ้น-กลุ่ม ปตท. ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมชมนิทรรศการและการแสดงผลงานด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และอุปกรณ์ที่ช่วยส่งเสริมและยกระดับภาคการผลิตและโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมร่วมรับฟังการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคที่เป็นประโยชน์ในงาน Maintenance & Resilience Asia 2019  ระหว่างวันที่ 2 – 4 ตุลาคม 2562  ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

นายภานุวัฒน์  ตริยางกูรศรี  ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม  รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการและการแสดงผลงานในหัวข้อเรื่อง Maintenance & Resilience Asia 2019  (MRA 2019) โดยความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  กระทรวงอุตสาหกรรม  กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการนี้  นายภานุวัฒน์  ตริยางกูรศรี  พร้อมด้วย นายมาซามิ  นากามูระ  ประธานสมาคมบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น หรือ เจเอ็มเอ ได้ให้เกียรติเยี่ยมชมผลงานที่กลุ่ม ปตท. นำมาจัดแสดงภายในงาน  โดยมี  นายวรวัฒน์ พิทยศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัล บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ  เปิดเผยว่า  ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ และ AI ได้กลายมาเป็นเมกะเทรนด์ที่สำคัญของโลก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้นทั้งอุตสาหกรรมค้าปลีก การเงิน การขนส่ง และ เกษตร ฯลฯ โดยมีส่วนช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต วิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมของการใช้พลังงานในจุดต่างๆ  เพื่อประสิทธิภาพในการจัดการการใช้และผลิตอย่างเหมาะสม และยังเข้าใจพฤติกรรมเชิงลึกของผู้บริโภคอีกด้วย  โดย ล่าสุด กลุ่ม ปตท. ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ได้มีการคิดค้นและพัฒนาไปร่วมจัดแสดงในนิทรรศการ MRA 2019 โดยมุ่งมั่นที่จะช่วยยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมไทยให้ทัดเทียมในระดับโลก พร้อมก้าวไปสู่ศูนย์กลางแห่งความทันสมัยในด้านกระบวนการผลิต การบำรุงรักษา ตลอดจนช่วยกระตุ้นการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาธุรกิจขององค์กรต่างๆในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

สำหรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่กลุ่ม ปตท. จะนำไปร่วมจัดแสดงและเผยแพร่นั้น ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ Smart Manufacturing หรือเทคโนโลยีด้านการผลิต  อาทิ  Manipulating Drone  อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ที่สามารถเคลื่อนที่อัตโนมัติเข้าไปใกล้ผนังของถังเก็บน้ำมัน เพื่อวัดความหนาของผนังหรือโครงสร้าง ซึ่งจะชี้วัดการกร่อนของวัสดุ  และส่งข้อมูลแบบไร้สายกลับมายังภาคพื้นดินเพื่อการติดตามและบันทึกผล  ลดค่าใช้จ่ายในการใช้นั่งร้านหรือการโรยตัวเพื่อเข้าถึงพื้นที่เป้าหมาย และสามารถปฏิบัติงานในพื้นสูงที่ที่มีความเสี่ยง  ปัจจุบันอยู่ในขั้นการพัฒนาต้นแบบโดยคาดว่าจะสามารถนำมาใช้งานจริงในปี 2562  MOVO-Service robot  หรือหุ่นยนต์ที่ให้ความช่วยเหลือและบริการเป็นหุ่นยนต์ที่ทำงานนอกเหนือจากงานระบบอุตสาหกรรม โดย ปตท. ได้อยู่ระหว่างพัฒนาให้สามารถเคลื่อนไหวได้คล้ายมนุษย์มากที่สุดรวมทั้งพัฒนาให้สามารถจดจำใบหน้าและหลบสิ่งกีดขวางได้  Drone Survey  เทคโนโลยีการบินถ่ายภาพทางอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง  พร้อมการวิเคราะห์ที่ทันสมัย  สามารถตรวจสอบและแปลงข้อมูลทางกายภาพจากทางอากาศให้เป็นรูปแบบดิจิทัล  จากการบินเก็บข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศ ความละเอียดสูงด้วยกล้องชนิดพิเศษ  ระยะทางบินสำรวจได้มากกว่า 80 กิโลเมตรต่อเที่ยวบิน  สามารถประยุกต์ใช้ในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ  ไฟฟ้า  การเกษตรและป่าไม้  การก่อสร้าง  คมนาคม และการสำรวจอื่นๆ

และส่วนต่อมาคือ Smart Infrastructure หรือเทคโนโลยีด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ วังจันทร์วัลเลย์ ซึ่งเป็นที่ดินของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกลุ่ม ปตท. ตั้งอยู่ ณ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง  มีพื้นที่กว่า 3,500 ไร่ ประกอบด้วย  พื้นที่พัฒนาแล้ว ประมาณ 1,200 ไร่ ได้แก่ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และ ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์  พื้นที่กำลังพัฒนา ซึ่งเป็นพื้นที่เขตนวัตกรรม ซึ่ง ปตท.  กำลังพัฒนาร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  ขึ้นเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของ EECi เพื่อยกระดับความสามารถทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด โดยออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการไว้อย่างครบวงจร ในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform

“ปตท. มุ่งมั่นที่จะช่วยยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมไทยให้ทัดเทียมในระดับโลก พร้อมก้าวไปสู่ศูนย์กลางแห่งความทันสมัยในด้านกระบวนการผลิต การบำรุงรักษา ตลอดจนช่วยกระตุ้นการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาธุรกิจขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทย   นอกจากนี้ ยังจะมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) จากประเทศชั้นนำเช่น ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง นำเทคโนโลยีมาจัดแสดง พร้อมด้วยการสัมมนาให้ความรู้จากภาครัฐและเอกชน โดยการจัดงานดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาภาคการผลิต และโครงสร้างพื้นฐานของไทย  สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และเป้าหมายของประเทศอีกด้วย” นายวรวัฒน์ พิทยศิริ  กล่าวเสริมในตอนท้าย