SSF คลอดแล้วทดแทน LTF กูรูมองเงินหายออกตลาดหุ้นไทย 4.5 หมื่นลบ.

251

มิติหุ้น- ภายหลังจากที่ ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการออมระยะยาว โดยการยกเครื่องปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ทางภาษีใหม่ให้กับกองทุน คือ มีการก่อตั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Savings Fund) พร้อมกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้น และมุ่งเน้นให้กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อยและผู้ที่เริ่มต้นวัยทำงานได้รับประโยชน์มากขึ้น  ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนที่มาทดแทน LTF ที่จะหมดลงสิ้นปี 2562

โดย SSF ลดหย่อนภาษีได้ สูงสุด30 % ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท  ลงทุนหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ถือลงทุนไม่น้อยกว่า 10 % ไม่มีขั้นต่ำและไม่ต้องซื้อต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การซื้อ SSF RMF PVD กบข.ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนสงเคระาห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือกอช. เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทในแต่ละปีภาษี

ด้านบทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า ระยะสั้นตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับผลกระทบจากเม็ดเงินลงทุนที่หายไปบางส่วน โดยสามารถแบ่งผลกระทบออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ประเมินเม็ดเงินที่เคยหนุนจากกกองทุน LTF หายไปไม่ต่ำกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท

เนื่องจากเดิมนักลงทุนมีวงเงินในการซื้อกองทุนเพื่อประหยัดภาษีรวมกันทั้งหมดได้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นจากการซื้อกองทุนจากกองทุน RMF หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี บวกกับการซื้อกองทุน LTF ได้ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี (ซึ่งตรงส่วน LTF นี้ถูกยกเลิกไป) ขณะที่เงินลงทุนในกองทุนใหม่อย่าง SSF ต้องนำมารวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ เช่น กองทุน RMF ใหม่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นต้น ทั้งหมดนี้รวมกันสามารถซื้อได้ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี ทำให้มีเพดานที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ 1 ล้านบาทต่อปี ลดลงไปกว่าครึ่ง อย่างไรก็ตามยังมีความโชคดีเกิดขึ้นในปี 2563 – 2564 เพราะจะปราศจากแรงขายจากกองทุน LTF ที่จะครบกำหนดไถ่ถอน เนื่องจากเงินลงทุนในกองทุน LTF ตั้งแต่ปี 2559 จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2565 เป็นต้นไป เนื่องจากมีการเปลี่ยนระยะเวลาการถือครองจาก 5 ปีเป็น 7 ปีปฏิทิน แต่จะกลับมาเผชิญแรงขายตามปกติในปี 2565 สรุปคือ คาดว่ายังมีแรงซื้อสุทธิ LTF ในปี 2562F อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท

2.ความเสี่ยงเม็ดเงินพร้อมขายจากยอดคงค้างในกองทุน LTF กว่า 1.8 แสนล้านบาทที่สำคัญต้องอย่าลืมว่ายังมีเม็ดเงินลงทุนที่ครบกำหนดอายุ (ปี 2547-58) แต่ยังไม่ได้ขายเกินกว่า 1.8 แสนล้านบาท ที่ถือครองโดยกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะยาว แต่ก็พร้อมที่จะขายออกมา หากปัจจัยแวดล้อมทางการลงทุนไม่เอื้ออำนวย ถือเป็นแรงกดดันอีกทางหนึ่งต่อตลาดหุ้นไทยในปี 2563 เป็นต้นไป

www.mitihoon.com