ประมูลคลื่น 5จี ทะลุแสนล้าน!

122

 

กสทช. ตีปี๊บสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำ วงการสื่อสารทึ่งแคทเทเลคอม ไม่ได้มาเล่นๆ เหมาคลื่น700 ไป 2 ชุดรวด ส่วนเอไอเอสยังเปย์จัดหนักทุกคลื่นความถี่

การประมูลคลื่นความถี่ 5จี ครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศ เป็นไปอย่างพลิกความคาดหมาย จากที่ก่อนหน้านี้บริษัทสื่อสารโทรคมนาคม แบะท่าแสดงท่าทีไม่อยากเข้าร่วมประมูล มีการร้องขอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เลื่อนการประเมินออกไป

แต่เมื่อการประมูลเริ่มขึ้นในวันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 63) กลับปรากฏว่า บรรยากาศการประมูลกับพลิกความคาดหมาย บริษัทสื่อสารที่เข้าร่วมประมูลกับมีการสู้ราคากันอย่างถึงพริกถึงขิง โดยเริ่มจากคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ จำนวน 3 ใบอนุญาต ที่นำออกประมูลนั้นปรากฏว่า ค่ายมือถือต้องใช้เวลาขับเคี่ยวต่อสู้กันถึง 20 รอบ กว่าจะได้ข้อยุติและได้ผู้ชนะการประมูล

การประมูลครั้งนี้ได้มีการปรับปรุงเกณฑ์การเคาะใบอนุญาตจากที่ใช้เกณฑ์การเคาะราคาเป็นหลัก มาเป็นการพิจารณาความต้องการใบอนุญาตในแต่ละรอบประมูลเป็นหลัก โดยตราบใดที่ยังคงมีความต้องการใบอนุญาตสูงกว่าจำนวนใบอนุญาตที่นำออกประมูล ราคาต่อใบอนุญาตก็จะถูกปรับขึ้นไปโดยอัตโนมัติ จนกว่าความต้องการใบอนุญาตจะเท่ากับจำนวนใบอนุญาตที่มี

ในส่วนของคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ ที่นำออกประมูลเป็นคลื่นแรกจำนวน 3 ใบอนุญาต โดยเริ่มเคาะราคาเมื่อเวลา 9.30 น.นั้น ในรอบแรกมีผู้แสดงความจำนงต้องการถึง 6 ใบอนุญาต ทำให้ราคาต่อใบอนุญาตถูกปรับขึ้นจากราคาตั้งต้น 8,792 ล้านบาท และได้ทยอยปรับขึ้นไป จนกระทั่งไปสิ้นสุดในรอบที่ 20 เมื่อเวลา 12.00 น. จึงได้ข้อยุติ

โดยราคาต่อใบอนุญาตได้ปรับขึ้นไปจบที่ 17,153 ล้านบาท ทำให้ กสทช. สามารถดึงเงินเข้ารัฐเฉพาะคลื่น 700 MHz นี้กว่า 51,459 ล้านบาท สูงกว่าที่คาดไว้เยอะมาก  โดยคาดว่า บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลสเน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส บริษัททรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และ กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) แบ่งกันไปคนละใบอนุญาต

ต่อด้วยคลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาตๆละ 10 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ที่ปรากฏว่า จบลงในเวลาอันรวดเร็วเพียง 2 รอบเท่านั้น โดยมีราคาต่อใบอนุญาตที่ 1,956 ล้านบาทจากราคาตั้งต้นประมูล 1,862 ล้านบาทได้เงินเข้ารัฐไป 37,164 ล้านบาท

ส่วนคลื่น 26 กิกะเฮิร์ตซ์ (GHz) จำนวน 27 ใบอนุญาตๆ ละ 10 เมกะเฮิร์ตซ ที่เป็นอีกคลื่นที่ได้รับการจับตามองมากที่สุด และค่ายมือถือต่างแสดงความจำนงเข้าร่วมถึง 4 รายนั้น คือ AWN  ทรูมูฟ ดีแทคไตรเน็ต และบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน)นั้น กลับผิดคาด โดยมีค่ายสื่อสารยื่นความจำนงเข้ามาเพียง 26 ใบทำให้ต้องยุติลงเพียงรอบแรกรอบเดียว ในราคาตั้งต้นประมูลที่ 445 ล้านบาท รวมแล้ว 11,570 ล้านบาท

ทำให้ยอดรวมการประมูลคลื่น 5จี ในวันนี้ กสทช. สามารถประมูลคลื่น 700 MHz 3 ใบอนุญาตๆ ละ 17,153 ล้านบาท ได้เม็ดเงินรวม51,459 ล้าน , คลื่น 2600 MHz 19 ใบอนุญาต ๆ ละ 1,956 ล้านบาท รวมเม็ดเงิน 37,164  ล้านบาท และคลื่น 26 GHz จำนวน 26 ใบจาก 27 ใบอนุญาต ๆ ละ 445 ล้าน รวม 11,570 ล้าน รวมทั้งสิ้น 3 คลื่นความถี่ 48 ใบอนุญาต ได้เงินรายได้เข้ารัฐ 100,521 ล้านบาท รวมแวตด้วยก็ตกเกือบ 107,000 ล้านบาท

พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. เปิดเผยถึงการประมูลคลื่น 5จี ในภาพรวมในวันนี้ว่า มีผู้เข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 5 ราย สามารถสร้างเม็ดเงินรายได้เข้ารัฐรวม 100,521  ล้านบาท และหากประเมินผลรวมชุดย่านความถี่จะได้ 177,777 ล้านบาท (ไม่รวมแวต) โดยคลื่น 700 MHz จำนวน 3 ชุด ราคาสุดท้ายอยู่ที่ 17,153 ล้านบาท/ใบอนุญาต หรือรวมรายได้ทั้งสิ้น 51,460 ล้านบาท โดยบริษัท กสท โทรคมนาคม ชนะไป 2 ชุด และ บริษัท AWN ชนะไป 1 ชุด ส่วนทรูมูฟเอช ไม่ได้รับจัดสรร

ส่วนคลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ชุด การประมูลสิ้นสุดลงที่ราคาสุดท้าย 1,956 ล้านบาท รวมรายได้ 37,433.88 ล้านบาท  โดยผู้ชนะประมูล คือ บริษัท AWN ชนะ 10 ชุด ทรูมูฟ เอช จำนวน 9  ชุด ส่วนบริษัท กสท ไม่ได้รับจัดสรร

และคลื่น 26 GHz จำนวน 27 ชุด มีผู้เข้าประมูล 4 ราย การประมูลสิ้นสุดลงในรอบแรกที่ 26 ชุดจาก27 ชุดที่นำออกประมูลในราคา 445 ล้านบาท รวม  11,627 ล้านบาท โดยบริษัท  AWN ชนะประมูล 12 ชุด ทรูมูฟ เอช 8 ชุด บริษัท ทีโอที 4 ชุด และดีแทคไตรเน็ต ชนะไป 2 ชุด

ทั้งนี้ กสทช.จะนำเข้าบอร์ดพิจารณารับรองผลการประมูลและออกใบอนุญาต ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ หลังจากนั้น ผู้ประกอบการที่รับอนุญาตก็สามารถที่จะดำเนินการนำเข้าและติดตั้งเครือข่าย5จี เพื่อเร่งให้บริการได้ทันที

โดยเนตรทิพย์กระพริบข่าวร้อน

http://www.natethip.com/news.php?id=1802

www.mitihoon.com