SCB ได้รับอนุมัติในการจัดตั้งธนาคารลูกในเมียนมา ตั้งเป้า 5 ปีแรก อัดฉีดสินเชื่อ 7 พันลบ.

268

มิติหุ้น – ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดฉากลุยตลาดเมียนมา ได้รับอนุมัติในการจัดตั้งธนาคารลูก (Subsidiary Bank) ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เตรียมแผนให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้ารายใหญ่ เอสเอ็มอี และรายย่อยครบวงจร ผลักดันให้เมียนมาเป็นประเทศกลยุทธ์ที่จะสร้างการเติบโตให้เครือข่ายธุรกิจต่างประเทศ พร้อมเป็นสะพานเชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่างไทย-เมียนมา และต่อยอดสู่เครือข่ายการค้าระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมกลุ่มประเทศ CLMV+2 รองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในระยะยาว คาดว่าจะตั้งธุรกิจแล้วเสร็จพร้อมให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้ ตั้งเป้า 5 ปีแรกอัดฉีดสินเชื่อ 7,000 ล้านบาท

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB กล่าวว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและธุรกิจอันดับต้นๆ ของภูมิภาคที่นักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจ โดยใน 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวของจีดีพีเฉลี่ยประมาณ 6-7% และมีมูลค่าการลงทุนตรงจากประเทศไทย (FDI) ที่ได้รับการอนุมัติแล้วจนถึงปัจจุบันที่ 11 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ และ จีน นอกจากนั้น ประเทศไทยยังเป็นคู่ค้าในลำดับที่ 2 รองจากจีน โดยมีมูลค่าการค้า 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 ด้วยศักยภาพดังกล่าว ธนาคารไทยพาณิชย์จึงมีความตั้งใจที่จะขยายธุรกิจเข้าไปยังเมียนมาอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นให้บริการผ่านสำนักงานผู้แทนธนาคารในเมียนมาตั้งแต่ปี 2555 จนกระทั่งวันนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางเมียนมาให้จัดตั้งธุรกิจแบบจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลตามกฎหมายเมียนมา (Subsidiary Bank)

ทำให้เราสามารถเปิดธนาคารในรูปแบบบริษัทลูกที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้น 100% และสามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบเสมือนธนาคารท้องถิ่นในเมียนมา โดยภายใต้ Subsidiary License ทำให้ธนาคารสามารถเปิดสาขาในแหล่งธุรกิจที่สำคัญได้ถึง 10 สาขา ในระยะแรกธนาคารจะมุ่งตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนแล้วและที่ต้องการเข้าไปขยายธุรกิจทั้งด้านการค้าและการลงทุนในเมียนมา ด้วยโซลูชั่นทางการเงินเพื่อธุรกิจการค้าครบวงจร อาทิ สินเชื่อ อัตราแลกเปลี่ยน ธุรกรรมการค้า ซัพพลายเชน และบริหารเงินสด เป็นต้น

“ด้วยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในทุกภาคอุตสาหกรรม และจุดเด่นที่ทำให้เมียนมาเป็นที่สนใจของนักลงทุนจากต่างชาติอีกประการหนึ่งคือ ค่าแรงที่อยู่ในระดับไม่สูงมากนักของแรงงานเมียนมา จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่จะเข้ามาใช้เมียนมาเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปทั่วภูมิภาคได้ ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีลูกค้านักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนที่เมียนมาและมีความสนใจใช้บริการกับธนาคารแล้วกว่า 100 ราย จากกลุ่มอุปโภคบริโภค พลังงาน นิคมอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และอุตสาหกรรมการเกษตร โดยธนาคารตั้งเป้าประมาณการวงเงินสินเชื่อ 7,000 ล้านบาท ภายในปี 2567”

SCBนอกจากนี้ ธนาคารยังได้รับอนุญาตให้บริการทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อยของเมียนมาได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งตลาดลูกค้ารายย่อยของเมียนมานั้นถือว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับธุรกิจธนาคาร ด้วยประชากรกว่า 54 ล้านคนถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพที่ธนาคารจะพัฒนาการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินขั้นพื้นฐานให้แก่ชาวเมียนมา ทั้งนี้ ธนาคารวางแผนที่จะพิจารณาการให้บริการลูกค้ารายย่อยชาวเมียนมาด้วยผลิตภัณฑ์ทางด้านเงินฝาก สินเชื่อบุคคล ดิจิทัลแบงกิ้ง และกลุ่มลูกค้ามั่งคั่งอีกด้วย

การได้รับอนุมติในการจัดตั้งธนาคารลูกเพื่อสามารถเข้าทำธุรกิจเมียนมาครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงความพร้อมของธนาคารไทยพาณิชย์ทางด้านเครือข่ายต่างประเทศที่สมบูรณ์ครอบคลุมกลุ่มประเทศ CLMV+2 ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม จีน และสิงคโปร์ และธนาคารไทยพาณิชย์พร้อมเป็นสะพานเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างภูมิภาคให้กับนักลงทุนจากทุกชาติที่ต้องการขยายการค้าการลงทุนมายัง ประเทศไทย เมียนมา ตลอดจนประเทศอื่นในลุ่มแม่น้ำโขง

www.mitihoon.com