อินเวสทรี พร้อมรุกตลาดสินเชื่อ SMEs นำเทคโนโลยีการเงินมาพัฒนา เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อย เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น

310

 

มิติหุ้น-บริษัท อินเวสทรี จำกัด (ประเทศไทย )ผู้ให้บริการเงินทุนสำหรับธุรกิจรายย่อยไปจนถึงระดับกลาง (SMEs) ที่ต้องการต่อสายป่านในการดำเนินธุรกิจ ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวก รวดเร็ว เตรียมขอใบอนุญาตจาก กลต. เพื่อขยายบริการเงินทุนรูปแบบใหม่ ๆ ในไตรมาสสอง

นายวรกร สิริจินดา ผู้ร่วมก่อตั้ง อินเวสทรี ประเทศไทย กล่าวว่าเป้าหมายของ อินเวสทรี เป็นตัวกลางในการ        “ จับคู่ ระหว่าง SMEs ที่ต้องการเงินทุนและนักลงทุน ที่เกิดขึ้นจากการมองเห็นความยุ่งยากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจ SMEs ที่มีข้อจำกัดจากการขอสินเชื่อจากธนาคาร ที่ระบบตรวจสอบไม่เอื้ออำนวยให้ธุรกิจรายย่อยได้เข้าถึง แหล่งเงินกู้ที่มีคุณภาพ จนต้องหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ และเจอกับอัตราดอกเบี้ยที่สูง จึงทำให้ต้นทุนธุรกิจสูงตามไปด้วย”

“เมื่อผู้ประกอบการเหล่านี้ขาดสภาพคล่อง ก็จะส่งผลกระทบถึงระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ปัจจุบันกิจการประเภท “SMEs คิดเป็น 95% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทย และมีการจ้างงานกว่า 50% ของธุรกิจทั้งหมด ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยอยู่ เราเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยของ SMEs ในการทำธุรกิจโดยไม่ต้องกังวลเรื่อง  แหล่งเงินทุน ในขณะเดียวกัน ก็เป็นตัวกลางให้คนนำเงินออม มาลงทุนเพิ่มโอกาสทางรายได้ และอิสรภาพในด้าน การลงทุน โดยผู้ขอกู้สามารถกู้ยืมได้ในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม และในขณะเดียวกันนักลงทุนสามารถได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมตามความเสี่ยงที่ตัวเองเลือก”

ธุรกิจของอินเวสทรี คือการเชื่อมโยงระหว่างนักลงทุนกับผู้ต้องการเงินทุน ทำการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือทาง   การเงินของผู้ขอกู้ และบริหารจัดการการกู้ยืมตั้งแต่การทำสัญญาไปจนถึงการชำระคืนเงินกู้ โดยเป็น ฟินเทค สตาร์ทอัพ (Fin Tech Startup)  มีจุดเริ่มต้นที่ประเทศอินโดนีเซีย ก่อนจะขยายธุรกิจไปประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และในประเทศไทย

ล่าสุดบริษัทอินเวสทรี อินโดนีเซีย ประสบความสำเร็จจากการระดมทุนเพื่อการขยายธุรกิจขนาดใหญ่ ระดับซีรีส์ ซี (Series C) จำนวน 23.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 753 ล้านบาท จากกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันที่สนับสนุนเงินลงทุนแก่สตาร์ทอัพ ด้านเทคโนโลยีการเงิน ชั้นนำของญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย ได้แก่ เอ็มยูไอพี (MUIP) ของ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ  ไฟแนนเชี่ยล กรุ๊ป (Mitsubishi UFJ Financial Group, Inc. – MUFG) และ บีอาร์ไอ เวนเจอร์   (BRI Ventur) โดยทุนดังกล่าว  อินเวสทรีจะนำไปใช้ในการพัฒนาบริการ เพื่อสนับสนุน SMEs ในอินโดนีเซียและเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์การขยายธุรกิจในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ การได้รับการสนับสนุนในช่วงเวลาที่ท้าทายของเศรษฐกิจ แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของรูปแบบธุรกิจ และเสริมสร้างความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่าน SMEs ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนช่องว่างทางสินเชื่อประมาณ 430,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เรามองเห็นโอกาสในการ ลดช่องว่างทางสินเชื่อโดยการสนับสนุนด้านการเงินแก่ SMEs ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นี้ SMEs ต่างก็ต้องการสินเชื่อไปเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ”    นายเอเดรียน กูนาดิ ผู้ร่วมก่อตั้ง และซีอีโอ อินเวสทรี กล่าว

นายโนบุตาเกะ ซูซูกิ เพรสซิเดนท์ และซีอีโอ เอ็มยูไอพี (MUIP) และ นายนิกโก้ วิดจาจา, ซีอีโอ บีอาร์ไอ เวนเจอ  (BRI Ventures) กล่าวว่า “เราเชื่อว่าอินโดนีเซีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพมหาศาลสำหรับผลิตภัณฑ์ด้านสินเชื่อเพื่อ SMEs ที่ใช้เทคโนโลยีด้านการเงินเข้ามาตอบโจทย์ และเราตระหนักดีว่าการระบาดใหญ่ของ COVID-1 9 ได้สร้างความไม่แน่นอนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการทั้งในและนอกประเทศอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามจากกลยุทธ์การทำธุรกิจและประสบการณ์ของอินเวสทรี จะสามารถสนับสนุนด้านการเงินแก่ธุรกิจ SMEs รวมถึงสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุน และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ให้แข็งแกร่งในเร็ววัน”

ปัจจุบัน อินเวสทรี ประเทศไทย ใช้เงินทุนของบริษัทฯ ให้บริการการกู้เงินแก่ SMEs ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลโดยใช้ ใบแจ้งหนี้การค้า เป็นการกู้เงินโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันและยึดถือยอดชำระเงินตามกำหนดบนใบแจ้งหนี้เป็นแหล่งที่มาของเงินในการชำระหนี้คืน โดยผู้กู้จะได้อัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมระหว่าง 12% – 15% ต่อปี และในไตรมาส 2 บริษัทฯ อยู่ระหว่างการยื่นขอใบอนุญาต คราวด์ฟันดิ้ง แพลตฟอร์ม (Crowdfunding Platform) กับ กลต. โดยมีแผนที่จะขยายบริการระดมทุนในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ทางการตลาดมากยิ่งขึ้น บริษัทฯ บริหารงานโดยทีมงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและเทคโนโลยี ที่มีประสบการณ์ทำงานมากกว่า 20  ปี ในสายงานธนาคารพาณิชย์ วาณิชธนกิจ และธุรกิจการประเมินความเสี่ยงด้านการเงิน” นายวรกร สรุป

www.mitihoon.com