JWD โชว์ผลงาน Q1/63 แข็งแกร่ง ทำรายได้รวม 966.1 ล้านบาท เติบโต 7.7% ท่ามกลางปัจจัยลบ

125

มิติหุ้น – บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ หรือ JWD ตอกย้ำการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง แม้มีปัจจัยลบจาก COVID-19 ทำรายได้รวมไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 966.1 ล้านบาท เติบโต 7.7% และกำไรสุทธิ 93.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% จากธุรกิจหลายส่วนที่ยังขยายตัวได้ดีและการบริหารค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ ชี้ COVID-19 เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ต้องเร่งปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาบริการรองรับความต้องการในธุรกิจอี-คอมเมิร์ชที่เติบโตอย่างรวดเร็ว วางแผนขยายธุรกิจกลุ่ม B2C ที่เป็นลูกค้ารายย่อย จากเดิมที่เน้นกลุ่ม B2B ที่เป็นลูกค้าภาคธุรกิจ

ดร.เอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนระดับอาเซียน เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2563 ว่า ยังสามารถสร้างการเติบโตได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าการดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์บางส่วนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 966.1 ล้านบาท เติบโต 7.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 896.8 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 93.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 89.2 ล้านบาท

“ธุรกิจของ JWD ในไตรมาสแรกที่ผ่านมายังไม่ได้รับผลกระทบมากนักและไม่หนักเท่ากับบางอุตสาหกรรม เป็นการตอกย้ำว่าบริษัทฯ เดินมาถูกทางที่จับเซ็กเม็นต์ตลาดที่ครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม ทั้งยังขยายธุรกิจครอบคลุมไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น กัมพูชา เวียดนาม ฯลฯ โดยรายได้จากหลายธุรกิจยังขยายตัวได้ดี ประกอบกับได้มุ่งเน้นการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการขายและบริหาร (SG&A) โดยลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้กว่า 20 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน” ดร.เอกพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ รายได้และกำไรในไตรมาส 1/2563 ที่เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปัจจัยมาจากธุรกิจคลังสินค้าทั่วไปมีรายได้ 104.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ลูกค้าใช้ระยะเวลาจัดเก็บสินค้าในคลังนานขึ้น ธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็นมีรายได้ 188.4 ล้านบาท เติบโต 20.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสามารถเพิ่มปริมาณสินค้าที่รับจัดเก็บให้แก่ลูกค้ารายเดิมและขยายกลุ่มลูกค้ารายใหม่ ส่งผลให้มีอัตราการใช้พื้นที่เฉลี่ยสูงถึง 80%

ส่วนธุรกิจรับฝากและบริหารยานยนต์มีรายได้รวม 124.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้งานจากลูกค้ารายใหม่ อย่างไรก็ตามปริมาณงานในเดือนเมษายนที่ผ่านมาชะลอตัวตามภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบทั่วโลก แต่คาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นหากสถานการณ์ COVID-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย ขณะที่ธุรกิจ Self-Storage หรือห้องเก็บของส่วนตัวให้เช่ามีรายได้ 5.7 ล้านบาท เติบโตกว่า 120% จากการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ นอกจากนี้ยังได้รับส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนการลงทุนจากธุรกิจในต่างประเทศจำนวน 25.1 ล้านบาท

นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JWD กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านโลจิสติกส์ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งการให้บริการขนส่งสินค้าภายในประเทศท่ามกลางข้อจำกัดจากการประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวและมาตรการล็อกดาวน์ในหลายจังหวัด การให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดเที่ยวบิน ปรับเปลี่ยนสายการเดินเรือและการปิดด่านชายแดนบางแห่ง

อย่างไรก็ตาม COVID-19 ได้กลายเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดความต้องการใช้บริการโลจิสติกส์ในธุรกิจ E-Commerce เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดจากการปรับโมเดลของภาคธุรกิจต่าง ๆ จาก Offline สู่แพลตฟอร์ม Online ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะกลายเป็น New normal จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่จะคิดค้นและพัฒนาโมเดลให้บริการที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุม ตลอดจนสร้างสรรค์รูปแบบการให้บริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง

ทั้งนี้ JWD ได้วางแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยนอกจากการมุ่งเน้นบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ได้รุกเข้าหาลูกค้ามากขึ้นเพื่อนำเสนอโซลูชั่นที่สามารถช่วยแก้ไข Pain Point แก่ลูกค้า และได้ขยายรูปแบบการให้บริการด้านโลจิสติกส์ใหม่ ๆ จากเดิมที่เน้นกลุ่ม B2B ที่เป็นลูกค้าธุรกิจ สู่กลุ่ม B2C เพื่อขยายฐานลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีด้านไอทีและระบบซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์มาต่อยอดเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ

“เราต้องการขยายธุรกิจ B2C เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะธุรกิจห้องเก็บของส่วนตัวให้เช่า (Self-Storage) ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าออนไลน์เข้ามาเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้น เราตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำบริการ Self-Storage ในประเทศไทย ที่มีพื้นที่ให้บริการรวมมากกว่า 20,000 ตารางเมตร ล่าสุดเราได้นำเสนอบริการใหม่ เช่น Cold Chain Express Delivery หรือ บริการขนส่งควบคุมอุณหภูมิแบบด่วน ทั้งแบบแช่เย็น (Chilled) และ แช่แข็ง (Frozen) เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ” นายชวนินทร์ กล่าว

www.mitihoon.com