PPPM ถกแนวทางปลดเครื่องหมาย “C”

128

 

มิติหุ้น-PPPM เปิดบ้านจัดประชุมชี้แจงแนวทางปลดเครื่องหมาย “C” มั่นใจแก้ไขส่วนผู้ถือหุ้นให้เข้าสู่ระดับที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดภายในไตรมาส 2/63 เพราะต่ำกว่าเกณฑ์เพียง 12 ล้านบาท อาศัย 2 แนวทางหลัก คือเร่งเก็บหนี้การค้าที่มีกว่า 175 ล้านบาท และลดการสำรองภาษีสำหรับการโอนกิจการที่มากเกินไป ในขณะที่ทิศทางผลประกอบการเริ่มมีแนวโน้มที่ดี ผลขาดทุนลดลงตั้งแต่ไตรมาส 1 ของ  ปีนี้ เนื่องจากบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ต่ำลงกว่า 16% และควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดีขึ้น

นายวรุณ อัตถากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร บริษัท พีพี ไพร์ม จำกัด(มหาชน) หรือ PPPM เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดประชุมเพื่อชี้แจงต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องถึงแนวทางในการแก้ไขเพื่อปลดเครื่องหมาย C เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเชื่อมั่นว่าในไตรมาส 2 ของปี 2563จะสามารถดำเนินการให้ส่วนของผู้ถือหุ้น เกินกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ สิ้นงวดไตรมาส 1 ของปี 2563 มีจำนวน 331.78 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 48% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว หรือต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดเพียง 12 ล้านบาทเท่านั้น โดยบริษัทฯ จะเร่งดำเนินการแก้ไขจาก 2 แนวทาง

แนวทางแรก คือเร่งติดตามลูกหนี้การค้าที่มีจำนวน 175 ล้านบาท แนวทางที่ 2 คือ ปรับลดและหาข้อสรุปเรื่องเงินสำรองภาษีสำหรับการโอนกิจการ ซึ่งบริษัทฯ ได้ตั้งสำรองในส่วนนี้มากกว่าที่จะจ่ายราว 2 เท่า

“บริษัทฯ ไม่ได้มีข้อกังวลในเรื่องของการแก้ไขเพื่อปลดเครื่องหมาย C และมีความเชื่อมั่นว่าด้วย 2 แนวทางข้างต้นจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ สิ้นงวดไตรมาส 2 ของปี 2563 จะกลับเข้าสู่ระดับเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด”

นอกจากนี้ แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทฯ เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2563 แม้ว่าจะยังแสดงผลขาดทุนสุทธิจำนวน 6 ล้านบาท แต่ผลขาดทุนลดลงอย่างมากถึง 88.13% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีผลขาดทุนสุทธิ 50 ล้านบาท สะท้อนแนวทางที่ถูกต้องที่บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดี ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการสามารถเปลี่ยนเป็นกำไรได้ในอนาคตอันสั้น

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายอดขายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ลดลงบ้าง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่เป็นระดับที่น้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ จากการที่ธุรกิจอาหารสัตว์เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มธุรกิจอาหาร ซึ่งยังมีความต้องการและความจำเป็นในการบริโภค

ทั้งนี้บริษัทฯ คาดว่าแนวโน้มของผลประกอบการในไตรมาส 2 ของปี 2563 จะยังคงมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมีสัญญาณที่ดีจากการเปิดประเทศของประเทศจีนที่มีความต้องการสูง รวมทั้งบริษัทฯ มั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ดี

www.mitihoon.com