ราคาน้ำมันดิบทรงตัว หลังความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นจากการคลายล็อคดาวน์ ขณะที่ตลาดยังกังวลโควิดระลอก 2

173

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 37- 42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 40 – 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (6 – 10 ก.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจของ 2 ประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐฯ และจีนปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยหนุนจากข่าวดีเรื่องการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หลังหลายประเทศทั่วโลกเริ่มคลายมาตรการปิดเมือง และรัฐบาลในหลายประเทศเริ่มส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงานมากขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
  • ตัวเลขทางเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐฯ และจีนมิทิศทางดีขึ้น โดยผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยตัวเลขดัชนีกิจกรรมการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. 63 ปรับตัวขึ้นไปแตะระดับ 52.6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี ตามสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความต้องการใช้น้ำมันที่เริ่มฟื้นตัว
  • จีนเผยกำไรจากภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. 63 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่า 8.23 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน
  • ความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ส่งผลหนุนตลาดน้ำมัน หลังบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ (Pfizer Inc.) ผู้ผลิตยารายใหญ่ในสหรัฐฯ ร่วมมือกับบริษัทไบออนเทค (BioNTech) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากเยอรมนี ได้เปิดเผยผลการทดลองของการพัฒนาวัคซีนในอาสาสมัครและได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ ช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อาจต้องมีมาตรการปิดเมืองอีกรอบ
  • ตลาดยังคงถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนบางประเทศที่มีการกลับมาของไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ควรใช้มาตรการปิดเมือง เพื่อยับยั้งไม่ให้สถานการณ์บานปลาย โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ใน 22 ประเทศตะวันออกกลางที่องค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 63 มีจำนวนมากกว่า 1,070,000 คน และมีผู้เสียชีวิตเกือบ 25,000 คน ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของภูมิภาคตะวันออกกลางในเดือน มิ.ย. เพียงเดือนเดียว มีมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อตลอด 4 เดือน ก่อนหน้านั้นรวมกัน
  • บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียมีแนวโน้มจะกลับมาดำเนินการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบได้ในเร็วๆ นี้ หลังจากการผลิตน้ำมันดิบหยุดชะงักนานกว่า 6 เดือน เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ ส่งผลให้กำลังการผลิตในเดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าระดับที่ผลิตในปี 2562 ที่ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าที่ระดับราคาน้ำมันดิบปัจจุบัน จำนวนหลุมขุดเจาะในสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะกลับมาเพิ่มขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 63 นอกจากนี้ ผลสำรวจของ Dallas Federal Reserve Bank พบว่าผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ คิดว่าหากน้ำมันดิบอยู่ในระดับ 36-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ก็จะพิจารณากลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) นอกภาคการผลิตของสหรัฐฯ เดือน ก.ค. 63 ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนเดือน มิ.ย. 63 และยอดขายปลีกยูโรโซน เดือน พ.ค. 63

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 มิ.ย. – 3 ก.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 40.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 42.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดยังมีแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง หลังจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ส่งผลให้บางรัฐสั่งระงับหรือชะลอมาตรการผ่อนคลาย และหลายรัฐได้เริ่มกลับมาใช้มาตรการในการควบคุมมากขึ้นอีก เช่น แคลิฟอร์เนีย เท็กซัส และฟลอริดา อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนหลัง EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 26 มิ.ย. 63 ปรับตัวลดลง 7.2 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 534 ล้านบาร์เรล เป็นผลมาจากการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงกลั่นฯ ในสหรัฐฯ และการนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบียที่ปรับตัวลดลง

www.mitihoon.com