การเมืองไทยกดดันตลาด เน้นลงทุนหุ้นเทคโนโลยี

110

สัปดาห์นี้การลงทุนทั้งในและต่างประเทศ มีหลายประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมาก เริ่มที่ต่างประเทศ นักลงทุนต้องติดตามการดีเบทครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 22 ตุลาคม ซึ่งจะจัดขึ้นที่รัฐเทนเนสซี่  ภายใต้ 6 หัวข้อคำถาม ได้แก่ 1.เรื่องครอบครัวอเมริกัน  2.เชื้อชาติในอเมริกา 3.ภาวะโลกร้อน 4.ความมั่นคงของประเทศ 5.ภาวะผู้นำ และ6.นโยบายต้านโควิด-19  ทั้งนี้หากพิจารณาหัวข้อการดีเบทจะพบว่า หัวข้อ 3 ใน 6 นั้น ถูกมองว่าสร้างความเสียเปรียบให้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างมาก  และในเวลานี้ผลสำรวจคะแนนนำยังคงเป็นของโจ ไบเด็นที่ระดับ +9 จุด ลดลงจากอาทิตย์ก่อนหน้าที่ +10 จุด

ขณะเดียวกัน การหารือของพรรคการเมืองสหรัฐฯ สองฝ่ายในเรื่องงบเยียวยาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่มีความคืบหน้า และคาดว่า โอกาสที่จะตกลงกันได้ก่อนเลือกตั้งมีค่อนข้างน้อย แต่ประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ คือ การรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของจีนไตรมาสที่ 3 ซึ่งเติบโต ที่ระดับ 4.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา  และด้านสหรัฐฯ จะมีการรายงานผลประกอบการของบริษัทที่สำคัญอย่าง Netflix และ Tesla คาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอยู่ในช่วงของการดีเบท น่าจะทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเป็นบวก

ด้านประเทศสถานการณ์ในประเทศไทย เวลานี้กำลังเป็นที่จับตาอย่างมากในเรื่องการเมือง โดยสถานการณ์การชุมนุมในตอนนี้มีโอกาสที่จะยืดเยื้อออกไปนานกว่าที่หลายฝ่ายคาด แม้การชุมนุมจะยังคงดำเนินต่อไปแบบสันติ ไม่มีการปักหลักพักค้าง แม้ว่ารัฐบาลมีการปล่อยตัวผู้ชุมนุม อีกทั้งมีการเตรียมที่จะเปิดสภาฯแบบวิสามัญเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์ในเวลานี้  ซึ่งน่าจะลดแรงกดดันต่อตลาดลงได้เล็กน้อย แต่โดยรวมการชุมนุมยังคงเดินหน้าต่อไป ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่จะยังไม่กลับเข้าลงทุนตลาดหุ้น อีกทั้งสถานการณ์ยังสามารถเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ตลอดเวลา  เนื่องจากการชุมนุมนั้นเกิดขึ้นในช่วงเย็นหลังตลาดหุ้นปิดการซื้อขายไปแล้ว

ดังนั้น ทิศทางตลาดหุ้นไทย ยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยดังกล่าวต่อเนื่อง โดยดัชนีหุ้นไทยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาปรับตัวลงถึง 2%  และมีแนวโน้มที่จะยังไม่ดีขึ้น  KTBST SEC  แนะนำชะลอการลงทุน เลือกขายหุ้นที่ขึ้นมามากเพื่อลดความเสี่ยง และเน้นซื้อขายช่วงสั้นๆ เพื่อรอสถานการณ์กลับมาเป็นบวก

สำหรับการจัดสินทรัพย์ลงทุน แนะนำให้ลงทุนต่างประเทศเป็นหลักโดยเฉพาะตลาดพัฒนาแล้วจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน เน้นกระจายลงทุนในหุ้นกลุ่มที่เติบตามวัฏจักรเศรษฐกิจ (Cyclical) หุ้นที่ฟื้นตัวช้า (laggard ) และรวมถึงหุ้นกลุ่ม e-commerce และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เพื่อกระจายโอกาสในการสร้างผลตอบแทน ล่าสุด บลจ.วี เตรียมเปิดขาย IPO อีกหนึ่งกองทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี นั่นคือ  กองทุนเปิด วี วีดิโอ เกมมิ่งแอนด์ อีสปอร์ต (WE VIDEO Gaming and eSports Fund : WE-PLAY) ลงทุนผ่านกองทุนหลัก  VanEck Vectors® Video Gaming and eSports ETF ที่มีนโยบายเน้นลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับวิดิโอเกม และ eSports เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนจากการเติบโตของหุ้นกลุ่มธุรกิจดังกล่าว เปิดขาย IPO ระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2563

**ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน*

โดยคุณชาตรี  โรจนอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST SEC)

www.mitihoon.com