กรมสรรพากร ชูนวัตกรรมให้ภาษีเป็นเรื่องง่าย จับมือสถาบันการเงิน ใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย อิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax)

592

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “นวัตกรรมระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) เป็นหนึ่งในระบบภาษีที่กรมสรรพากรได้พัฒนาขึ้น ในเปลี่ยนแปลงการทำงานสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) โดยให้ผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้การจัดการภาษีเป็นเรื่องง่าย จากเดิมที่ผู้จ่ายเงินต้องยื่นแบบแสดงรายการและนำส่ง ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้กรมสรรพากร และจัดทำเอกสารหลักฐานหนังสือรับรองให้ผู้รับเงินเอง เปลี่ยนมาเป็นการให้สถาบันการเงิน หรือธนาคารเป็นตัวกลางดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทน ช่วยลดขั้นตอน ลดต้นทุน ลดภาษี มีมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล สามารถจำกัดสิทธิการเข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลได้ โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563

สำหรับระบบ e-Withholding Tax ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย คือผู้จ่ายเงิน ธนาคารผู้ให้บริการระบบ ผู้รับเงินซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และกรมสรรพากรโดยผู้จ่ายเงินจะจ่ายเงินผ่านธนาคารพร้อมแจ้งข้อมูลที่กำหนด เมื่อธนาคารได้รับเงินแล้วจะออกหลักฐานเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงินและผู้รับเงิน พร้อมทั้งจ่ายเงินหลังหักภาษีให้แก่ผู้รับเงิน และนำส่งข้อมูลและภาษีที่หักไว้ไปยังกรมสรรพากรภายในเวลาไม่เกิน 4 วันทำการ ถัดจากวันที่ธนาคารได้รับเงิน จากนั้นกรมสรรพากรจะออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงิน กรณีนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายขาดไป ผู้จ่ายเงินสามารถนำส่งภาษีเพิ่มเติมผ่านระบบนี้ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้สามารถตรวจสอบหลักฐาน หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ได้ตลอดเวลาที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th”

ธนาคารที่เปิดให้บริการ e-Withholding Tax ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของธนาคารจำนวน 11 ธนาคาร ได้แก่

1. ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน)

2. ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

3. ธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

4. ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

5. ธนาคาร มิซูโฮ จำกัด สาขา กรุงเทพฯ

6. ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

7. ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

8. ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น

9. ธนาคาร สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด

10. ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน)

11. ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)

ด้านนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า “ภาคธุรกิจการเงินได้ร่วมเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) เพื่อผลักดันระบบการชำระเงินของประเทศเข้าสู่ดิจิทัลทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงบุคคลทั่วไป โดยพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน (Payment Infrastructure Development) ส่งเสริมการเข้าถึง e-Payment ผ่านพร้อมเพย์เพื่อลดการใช้เงินสดและเช็ค พัฒนาระบบรับชำระทั้งขารับและขาจ่าย ส่งเสริมการใช้บัตรเดบิตและเครดิตอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการพัฒนาระบบการชำระภาษีของกรมสรรพากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคืนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ขยายจากบุคคลธรรมดามาสู่นิติบุคคล ช่วยให้การคืนภาษีรวดเร็ว ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ”

ในครั้งนี้กรมสรรพากรและสมาคมธนาคารไทยได้ร่วมกันขยายโครงสร้างทางภาษีของภาคธุรกิจให้เชื่อมกับระบบการชำระภาษี e-Withholding Tax ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนการดำเนินงาน ไม่ต้องจัดเก็บเอกสาร และสามารถตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านบริการธนาคารสมาชิก 9 ธนาคาร และ 2 ธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาในประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้จะร่วมกันต่อยอดข้อมูลด้านธุรกิจมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่สามารถรองรับการขยายไปสู่ภาษีประเภทอื่น เพื่อประโยชน์ของสูงสุดของประชาชน