TTA รายงานผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติที่เป็นบวก ในไตรมาสที่ 3/63

378

มิติหุ้น – TTA รายงานรายได้รวมในไตรมาสที่ 3/2563 อยู่ที่ 3,255.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากไตรมาสก่อน โดยกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ มีสัดส่วนรายได้คิดเป็นร้อยละ 36 ร้อยละ 21 ร้อยละ 24 และร้อยละ 19 ของรายได้รวมทั้งหมด ตามลำดับ กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 74 จากไตรมาสก่อน เป็น 846.4 ล้านบาท เนื่องจากสามกลุ่มธุรกิจหลักมีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น ส่วน EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 327 จากไตรมาสก่อน เป็น 330.1 ล้านบาท โดยสรุป ผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติส่วนที่เป็นของ TTA เพิ่มขึ้นร้อยละ 120 จากไตรมาสก่อน เป็น 50.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นของสามกลุ่มธุรกิจหลัก และผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA อยู่ที่ 1,354.6 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักมาจากรายการขาดทุนพิเศษจากการขายหุ้นของบริษัทร่วมแห่งหนึ่ง

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA กล่าวว่า “บริษัทฯมีความยินดีที่กิจกรรมบริการขนส่งทางเรือของโทรีเซน ชิปปิ้ง กลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากธุรกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ได้เริ่มกลับมาดำเนินการตามปกติ ส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นด้วย ในขณะที่เมอร์เมด มาริไทม์ ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนเพื่อจัดตั้ง บริษัท ซีเควสต์ จำกัด ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนกับ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์สำหรับให้บริการงานวิศวกรรมใต้ทะเลในเชิงพาณิชย์แก่บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้านกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรยังคงทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณการส่งออกปุ๋ยและยอดขายปุ๋ยเชิงเดี่ยวเพิ่มขึ้น

โดยแนวโน้มของธุรกิจขนส่งทางเรือ มีโอกาสเป็นไปได้ที่ปริมาณการค้าสินค้าแห้งเทกองจะฟื้นตัวและเติบโตได้ถึงร้อยละ 4 ในหน่วยตัน สูงกว่าอัตราการเติบโตในปี 2562 เมื่อเทียบกับการคาดการณ์การเติบโตของกองเรือเบื้องต้นจะเติบโตในอัตราที่ลดลงที่ร้อยละ 1.5 แต่อาจจะยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากภาวะอุปทานส่วนเกินที่สะสมในปีนี้

ขณะเดียวกัน แม้ความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสองยังไม่จางหายไป แต่เราก็เห็นแนวโน้มที่ดีของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องโดยได้รับประโยชน์จากการดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากจีนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก”

ผลการดำเนินงานของรายกลุ่มธุรกิจ

กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ :

โทรีเซน ชิปปิ้ง มีรายได้ค่าระวางในไตรมาสที่ 3/2563 อยู่ที่ 1,155.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้น อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) กลับมาฟื้นตัวตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 52 จากไตรมาสก่อน เป็น 11,444 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งสูงกว่าอัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์สุทธิ (อัตราตลาดสุทธิ) ที่ 9,435 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน อยู่ร้อยละ 21 โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์เรือที่โทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นเจ้าของสูงถึงร้อยละ 100 ส่วนค่าใช้จ่ายในการเดินเรือ (OPEX) ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 3,634 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ในไตรมาสที่ 3/2563 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 22

โดยสรุป ในไตรมาสที่ 3/2563 โทรีเซน ชิปปิ้ง รายงาน EBITDA จำนวน 364.9 ล้านบาท และผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA เติบโตขึ้นร้อยละ 390 จากไตรมาสก่อน เป็น 225.5 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง :

ในไตรมาสที่ 3/2563 บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) มีรายได้จำนวน 683.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากอัตราการใช้ประโยชน์เรือที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือในไตรมาสที่ 3/2563 คิดเป็นร้อยละ 92 ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนวันทำงานที่เพิ่มขึ้นตามมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบ (order book) ที่แข็งแกร่ง และการกลับมาทำงานได้ตามปกติเมื่อต้นเดือนสิงหาคมของเรือที่ถูกกักตัวหลังจากถูกส่งไปเข้าอู่แห้งตามข้อบังคับของเรือเป็นลำที่ 2 ของปีนี้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2563 ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงของธุรกิจขุดเจาะในอนาคต เมอร์เมด มาริไทม์ ได้ขายหุ้นทั้งหมดร้อยละ 33.76 ในบริษัทร่วมแห่งนี้ให้กับผู้ถือหุ้นอีกฝ่ายของบริษัทร่วมดังกล่าวตามมูลค่ายุติธรรม ดังนั้น ในปัจจุบันจึงไม่มีการดำเนินธุรกิจขุดเจาะที่มีความผันผวนสูงจากราคาน้ำมันแล้ว และได้มุ่งเน้นงานสำรวจ ซ่อมแซม และซ่อมบำรุง (IRM) ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่มีอยู่เดิมและมีความมั่นคงมากกว่า นอกจากนี้ เมอร์เมด มาริไทม์ ยังได้รับค่าหุ้นทั้งหมดเป็นเงินสดจำนวน 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือเทียบเท่า 981.4 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รายการดังกล่าวส่งผลให้เกิดรายการขาดทุนพิเศษที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานปกติและเป็นรายการขาดทุนที่ไม่ใช่เงินสดในไตรมาสนี้

ขณะที่กำไรขั้นต้นกลับมาเป็นบวก โดยปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 163 จากไตรมาสก่อน เป็น 58.5 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ในไตรมาสที่ 3/2563 เมอร์เมด มาริไทม์ รายงานผลขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานปกติส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 133.5 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากไตรมาสก่อน และมีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ 179 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส

กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร :

บริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA มีรายได้จากการขายในไตรมาสที่ 3/2563 อยู่ที่ 775.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากปริมาณขายปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ปริมาณการขายปุ๋ยรวมทั้งสิ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 จากไตรมาสก่อน เป็น 61.3 พันตัน จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณส่งออกปุ๋ยและปริมาณขายปุ๋ยเชิงเดี่ยว ส่วนปริมาณขายปุ๋ยในประเทศเวียดนาม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 74 ของปริมาณขายปุ๋ยทั้งหมด เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากปริมาณขายปุ๋ยเชิงเดี่ยวพุ่งสูงขึ้น ส่วนปริมาณส่งออกปุ๋ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 จากไตรมาสก่อนเช่นกัน จากการทำการตลาดที่เข้มข้นและการมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในตลาดแอฟริกา ขณะเดียวกัน EBITDA เติบโตร้อยละ 26 จากไตรมาสก่อน เป็น 50.9 ล้านบาท โดยสรุป ในไตรมาสที่ 3/2563 PMTA รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 16.6 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 3/2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 172 จากไตรมาสก่อน

นอกจากธุรกิจปุ๋ยเคมีแล้ว PMTA ยังให้บริการจัดการพื้นที่โรงงาน โดยมีพื้นที่ให้บริการรวมทั้งสิ้น 66,420 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกนำมาใช้ภายในประมาณ 15,000 ตารางเมตร และพื้นที่ส่วนที่เหลือได้เปิดให้ลูกค้าภายนอกมาใช้บริการเต็มทั้งหมด รายได้จากการบริการจัดการพื้นที่โรงงานและรายได้อื่นลดลงเป็น 11.7 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 3/2563 สาเหตุหลักมาจากการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์ของลูกค้าที่ลดลงในไตรมาสนี้

กลุ่มธุรกิจอื่นๆ :

กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มและกลุ่มการลงทุนอื่น

  • กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม :

o   พิซซ่า ฮัท ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 พิซซ่า ฮัท มีสาขาทั้งหมด 157 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งสาขาทั้งหมดที่เปิดใหม่เป็นสาขาที่เปิดตามหัวเมืองใหญ่

o   ทาโก้ เบลล์ เป็นเฟรนไชส์อาหารกึ่งเม็กซิกันสไตล์ที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ทาโก้ เบลล์ มีสาขาทั้งหมด 7 สาขา ทั่วประเทศ ซึ่งสาขาทั้งหมดที่เปิดใหม่เป็นสาขาที่เปิดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

  • กลุ่มการลงทุนอื่น มุ่งเน้น ธุรกิจการบริหารทรัพยากรน้ำ และโลจิสติกส์

o   บริษัท เอเชีย อินฟราสตรักเชอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (AIM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 80.5 เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และให้บริการครบวงจรทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ AIM ยังได้รับสัมปทานในการจำหน่ายน้ำประปาในหลวงพระบาง ประเทศลาว ผ่านบริษัทย่อยที่ AIM ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 66.7

www.mitihoon.com