‘เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง’ จับตาเศรษฐกิจไทย พร้อมเจาะลึกนโยบายรัฐหลังโควิด 19 ระบาดระลอกใหม่ เผยโอกาสลงทุนในหุ้นผู้ชนะ

188

มิติหุ้น – KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดงานสัมมนาออนไลน์ “ทางรอดเศรษฐกิจไทย ในวิกฤตล็อกดาวน์ที่ไม่ล็อกดาวน์จากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในระลอกใหม่ และผลกระทบทางเศรษฐกิจไทย พร้อมจับตาความเป็นไปของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย นโยบายเยียวยาและฟื้นฟูจากภาครัฐ รวมไปถึงโอกาสการลงทุนเพื่อคว้าผลตอบแทนกับหุ้นผู้ชนะ    ที่ขานรับ New Economy ในยุค New Normal

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “จากการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด 19 ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย รวมไปถึงภาคการส่งออกที่น่าจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันจากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น รวมไปถึงข่าวคราวการมาถึงของวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ว่าจะครอบคลุมประชากรไทยมากน้อยแค่ไหน การฉีดวัคซีนจะได้ผลดี และสามารถหยุดการแพร่ระบาดได้หรือไม่ และความหวังว่าจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ธนาคารฯ เข้าใจทุกๆ ความกังวลเป็นอย่างดี จึงร่วมกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยเพื่อเปิดเผยข้อมูลสำคัญ เพื่อจะได้เตรียมตั้งรับในวิกฤตล็อกดาวน์ที่ไม่ล็อกดาวน์ในครั้งนี้”

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า “ความแตกต่างระหว่างการระบาดของโรคโควิด 19 ในรอบแรก และการระบาดระลอกใหม่ มีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1) จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงกว่า 2) การกระจายของผู้ติดเชื้อเป็นแบบวงกว้าง 3) ต้นตอของการระบาดเกิดจากภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ มาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดก็แตกต่างออกไปด้วย โดยเป็นการล็อกดาวน์ที่ไม่ล็อกดาวน์ นั่นหมายถึงการล็อกดาวน์บางส่วน เพื่อรักษาสมดุลระหว่างผลกระทบทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม จำนวนของผู้ติดเชื้อรายวันยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามว่าจะลดลงหรือจบภายใน 60 วันหรือไม่ ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบนี้จบได้เร็ว การเติบโตภายในประเทศในปีนี้ก็คงจะลดลงไม่มากนักจากที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้ที่ 2.6%

สำหรับมาตรการที่ภาครัฐจะปล่อยออกมาเพื่อช่วยเหลือ ความสนใจยังพุ่งไปที่มาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค ที่ส่งผลให้การค้าขายไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ปัญหาที่เกิดในช่วงนี้คือรายได้ไม่เพียงพอ ในขณะที่มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเราเที่ยวด้วยกัน ช็อปดีมีคืน และ คนละครึ่ง ยังดำเนินควบคู่ไปด้วย โดยภาครัฐยังมีเม็ดเงินกว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ธนาคารมองว่า มาตรการภาครัฐยังมีความจำเป็นเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจเช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก แม้ว่าหนี้สาธารณะจะมีโอกาสชนเพดานที่ 60% ของ GDP ก็ไม่น่ากังวล เพราะสามารถขยับกรอบได้ แต่ก็ต้องมีแผนที่จะลดภาระหนี้ลงในระยะกลางถึงยาว”

ด้าน นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า “สำหรับตัวเลขหนี้ภาคเอกชน หรือ หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ประมาณ 86.6% ของ GDP ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 91% ณ สิ้นปีนี้ สำหรับตัวเลขหนี้ที่สูงขึ้นเกิดขึ้นในหลายประเทศ จากการที่ GDP หดตัว-โตต่ำ และหนี้ไม่ได้ลดลงเพราะมีมาตรการช่วยเหลือ เพียงแต่โจทย์เฉพาะหน้ายังเป็นการช่วยลูกหนี้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากปัญหาโควิด 19 อย่างไรก่อน ซึ่งทั้ง ธปท.และสถาบันการเงินกำลังพิจารณาอยู่ และสามารถต่ออายุมาตรการให้ความช่วยเหลือได้ เช่น การพักชำระหนี้ของลูกหนี้ที่เคยเข้าโครงการนี้มาแล้วได้ถึงกลางปีนี้ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารฯ มองว่ามีโอกาสที่จะลดจาก 0.5% เป็น 0.25% โดยเฉพาะหากสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่มีความเป็นไปได้น้อยที่จะต้องลดดอกเบี้ยไปจนถึง 0% เพราะ ธปท. ยังมีอาวุธและกระสุนอื่นๆ นอกเหนือจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อนำไปสู่การลดภาระต้นทุนทางการเงินให้กับธุรกิจ ขณะที่ การฝากเงินที่ไม่ได้ดอกเบี้ย หรือต้องเสียเงินให้ธนาคารในการฝากเงินยังไม่เหมาะกับประเทศไทย

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท แม้ระยะนี้จนถึงอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เงินบาทอาจมีแนวโน้มอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดปลายปีที่ 29.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากข่าวเรื่องผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจเตรียมออกมาเพิ่มเติม แต่เงินบาทก็ยังมีแนวโน้มแข็งค่าได้ในระยะที่เหลือของปี เมื่อตลาดกลับมาให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐานดอลลาร์ฯ อาทิ การขาดดุลงบประมาณและดุลการค้า รวมถึงการทำ QE ของเฟด ส่วนการเทียบวิกฤตรอบนี้กับรอบปี 2540 นั้น ในครั้งนี้สถาบันการเงินแข็งแรงกว่า มีสภาพคล่องเพียงพอ แต่ก็ไม่ละเลยความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้ ขณะที่ด้านภาคธุรกิจและครัวเรือนกลับมีความเปราะบางจากปัญหาหนี้สะสมและขีดความสามารถในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ธนาคารฯ มองว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส ซึ่งเกิดจากการเตรียมพร้อมล่วงหน้าและคว้าโอกาสเมื่อจังหวะมาถึง เช่น การพัฒนา Mobile banking, Online shopping รวมไปถึง Food delivery ซึ่งได้อานิสงส์จากช่วงล็อกดาวน์ เป็นต้น”

 “ด้านข่าวคราวเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่รัฐบาลไทยได้จัดซื้อวัคซีนจากจีนและอังกฤษจำนวน 28 ล้านโดสไว้แล้ว ซึ่งครอบคลุมประชากร 14 ล้านคน โดยในล็อตแรกนี้จะเริ่มทยอยฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงก่อน  และวางแผนซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส ซึ่งหากวัคซีนได้ผลดี และมีการทยอยฉีดจนครบในสิ้นปีนี้ถึงต้นปีหน้า จะทำให้ ประชากรไทยเกือบครึ่งหนึ่งจะได้รับวัคซีน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของคนในประเทศสูงขึ้น ภาคธุรกิจจะทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะการท่องเที่ยว แต่การฟื้นตัวคงไม่กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด 19 ในปีหน้า นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคและการเว้นระยะทางสังคมยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Work from home การใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารในการทำงาน เป็นต้น ส่วนการเดินทางระหว่างประเทศยังต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี เป็นอย่างน้อยกว่าจะกลับมาฟื้นตัว

สำหรับตลาดหุ้นไทยในปีที่ผ่านมา เกือบจะมีผลตอบแทนรั้งท้าย เนื่องจากกลุ่มบริษัทในตลาดส่วนใหญ่ เป็น Old economy ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มพลังงาน ธนาคาร และ ค้าปลีก ซึ่งโครงสร้างตลาดหุ้น สะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย อาจจะต้องใช้เวลาหลายปีในการปรับตัวให้ทันโลก ปัจจุบัน หลายบริษัทขนาดใหญ่ได้ปรับตัวเองให้เป็น Green มากขึ้น ตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้องมากขึ้น และการมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ส่งผลให้ประเทศไทยต้องมีกลยุทธ์ในการดึงดูดนักลงทุนที่มีเทคโนโลยีใหม่ หากต้องการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ในยุคถัดไป” นางสาวณัฐพร กล่าวเสริม

“ธนาคารหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะค่อยๆ ลดลง วัคซีน 63 ล้านโดสสามารถทยอยฉีดได้ตามแผนที่รัฐคาดการณ์ไว้ได้อย่างรวดเร็ว เม็ดเงิน 6 แสนล้านที่รัฐบาลสามารถอุดหนุนผลกระทบที่เกิดจาการแพร่ระบาด บทเรียนของโควิด 19 ในครั้งแรก ทำให้รับมือได้ดีขึ้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยลง ภาคธุรกิจไทยเองก็ต้องปรับตัว ปรับเศรษฐกิจ เพื่อรับ New Normal ด้วย New Economy สุดท้ายนี้ ธนาคารยังมุ่งมั่นในการเป็นตัวกลางในการนำองค์ความรู้ เพื่อเรียบรู้ และ ปรับตัว พร้อมทั้งยังสร้างผลตอบแทนจาก New Economy ได้จากการลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคตในต่างประเทศได้ อาทิ  E-Commerce Artificial Intelligence Golden age  Heath Care เป็นต้น” นายจิรวัฒน์ กล่าวสรุป

www.mitihoon.com