ครูกัลยา เตรียมลงพื้นที่ วษท. มหาสารคาม ตรวจความพร้อมการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรชลกร รุ่น 1 ครั้งแรกในประเทศไทย

106

มิติหุ้น – นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) เปิดเผยว่า คุณหญิงกัลยาเตรียมลงพื้นที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม ในวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน 2564 โดย วษท. มหาสารคามเป็นหนึ่งในวิทยาลัยนำร่องที่จะเปิดการเรียนการสอนหลักสูตร ชลกร เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในปีการศึกษา 2564 ที่จะมีการเปิดเรียนพร้อมกันทั่วประเทศในวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน นี้ เพื่อตรวจความพร้อมการจัดการเรียนการสอนหลักสูตร “ชลกร” รุ่นที่ 1 สาขาวิชาช่างกลเกษตร สาขางาน “การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร” ภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ พร้อมเป็นประธานในพิธีส่งมอบ ธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบบ่อเปิด ของวิทยาลัย

สำหรับการเปิดรับนักศึกษาเพื่อเข้าเรียนในหลักสูตรชลกร ในระดับ ปวส. ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี มีผู้สมัครเข้าเรียนครบตามจำนวนที่ตั้งไว้ และผู้เข้าเรียนทุกคนจะได้รับทุนในการเรียนฟรี-อยู่ฟรี โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือนอกจากนักเรียนที่จบการศึกษา      จากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับ ปวช.มาสมัครเข้าเรียนแล้ว ยังมีทหารจาก พล.ร.6 ร้อยเอ็ด และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่มาสมัครเข้าร่วมเรียนด้วย เนื่องจากเห็นความสำคัญในการนำองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ     ในชุมชนไปขยายผลยังหน่วยงานหรือชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ได้ด้วยเช่นกัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นระบบ

การลงพื้นที่ในครั้งนี้คุณหญิงกัลยา จะเป็นประธานในพิธีส่งมอบ ธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบบ่อเปิด ของโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคามร่วมด้วย โดยมีนายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พ.อ.ณัฎฐ์ ศรีอินทร์ รอง ผบ.พล.ร.6       ดร.ชาติชาย เกตุพรหม ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง สนง.คณะกรรมการการอาชีวศึกษา และนายพรณรงค์ วรศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมกิจกรรมและจะปลูกต้นไม้บริเวณบ่อกักน้ำเพื่อช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวในวิทยาลัยร่วมกันอีกด้วย

“เป็นที่น่ายินดีว่า โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ภายใต้การนำของคุณหญิงกัลยา ที่ได้ขับเคลื่อนมาตลอดระยะเวลาปีกว่า ประสบความสำเร็จคืบหน้าไปมาก จนสามารถเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรชลกรได้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย นับเป็นการปฏิรูปการศึกษาไปสู่ตัวผู้เรียนโดยตรง ที่จะนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพ มีงานทำ สร้างรายได้ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแท้จริง” นางดรุณวรรณ กล่าว

www.mitihoon.com