BJC โชว์ Q2/64 โกยกำไรสุทธิ 822 ลบ. โควิด-19 หนุนรายได้ธุรกิจเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ โตต่อเนื่อง

520

“บีเจซี” เปิดเผยผลประกอบการไตรมาสสอง ปี 64 มีกำไรสุทธิ เท่ากับ 822 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 516 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 168.6 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ยังเห็นการเติบโตในเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ และมีปัจจัยบวกการเติบโตในกลุ่มธุรกิจเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC เปิดเผยว่า “บริษัทมีรายได้รวมในไตรมาส 2/64 เท่ากับ 37,101 ล้านบาท ลดลง 1,503 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.9 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลงของยอดขายในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่กลุ่มธุรกิจอื่นเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของรายได้อื่น เท่ากับ 2,918 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 432 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากการฟื้นตัวของรายได้ค่าเช่าของกลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่”

สำหรับรายได้รวมงวดหกเดือนของปี 2564 เท่ากับ 72,718 ล้านบาท ลดลง 8,153 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.1 เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้รวมงวดหกเดือนของปีที่แล้ว สาเหตุหลักจากการลดลงของยอดขายในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ทั้งนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทงวดหกเดือนของปี 2564 เท่ากับ 1,835 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 250 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.7 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดหกเดือนของปีที่แล้ว สาเหตุหลักจากการควบคุมต้นทุนและการปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสม

ทั้งนี้ปัจจัยบวกผลประกอบการไตรมาส 2/64 มาจากทั้งธุรกิจหลักส่วนใหญ่ยังเติบโตเด่น พร้อมปัจจัยบวกโควิด-19 หนุนรายได้ธุรกิจเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ โดยมียอดขายในไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 2,189 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 232 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.8 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวมถึงสาเหตุจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเวชภัณฑ์การแพทย์ ที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งในไตรมาส 3 ของปี กลุ่มเครื่องมือแพทย์จะมีการนำเข้าอุปกรณ์ตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ด้วยน้ำลายจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจะวางจำหน่ายในร้านขายยาเพรียว ทั้ง 144 สาขาทั่วประเทศ

ในกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ มียอดขายไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 4,885 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 452 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.2 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แม้กลุ่มบรรจุภัณฑ์จะได้รับผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวและการค้าข้ามพรมแดนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ผลประกอบการในไตรมาส 2 ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกลุ่มบรรจุภัณฑ์แก้ว  นอกจากนี้การขยายฐานลูกค้า การเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทางกลุ่มธุรกิจดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ

กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค มียอดขายไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 5,679 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 723 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.6 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเกิดจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากทุกกลุ่มธุรกิจ แม้กำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภค แต่ผลประกอบการของกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตอย่างแข็งแกร่งในทุกกลุ่มธุรกิจ นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจอุปโภคยังได้เพิ่มบริการให้ลูกค้าใหม่ โดยการเข้าไปช่วยกระจายสินค้าให้ยูนิชาร์มไปยังช่องทางค้าปลีกแบบดั้งเดิมตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

และในกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ มีรายได้รวมไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 25,239 ล้านบาท ลดลง 2,824 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่กำไรสุทธิยังเติบโตได้ที่ร้อยละ 2.4 จากรายได้ค่าเช่าที่ฟื้นตัวและการควบคุมค่าใช้จ่าย ทั้งนี้การดำเนินงานของธุรกิจค้าปลีกและพื้นที่ศูนย์การค้ายังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ภาครัฐได้มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น เช่น การปิดพื้นที่ขายสินค้าไม่จำเป็น การปิดร้านค้าบางประเภทในพื้นที่ศูนย์การค้าของจังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อยอดขายและรายได้ค่าเช่าในไตรมาส 3 ของปี 64 แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ทั้งการเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่ง และการเพิ่มบริการโทรและไลน์มาช้อป เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน ในกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ บริษัทเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของร้านค้าขนาดเล็ก โดยในไตรมาส 2/64 ได้เปิดมินิบิ๊กซีทั้งหมด 32 สาขา ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 64 มีจำนวนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 152 สาขา (บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า) บิ๊กซี มาร์เก็ต 61 สาขา (บิ๊กซีมาร์เก็ต บิ๊กซี ฟู้ดเพลส และบิ๊กซีดีโป้) มินิบิ๊กซี 1,259 สาขา (รวมสาขาแฟรนไชส์ 60 สาขา) และร้านขายยาเพรียว 144 สาขา

กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี มุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาธุรกิจและมีแผนการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีในทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งการจัดหาสินค้าใหม่ การขยายฐานลูกค้า และการพัฒนาช่องทางการขายให้เชื่อมโยงทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อตอบสนองต่อวิถีชีวิตในปัจจุบันของผู้บริโภคให้มากที่สุด