วัดใจเล็งกระสุนดอกเบี้ยนัดสุดท้าย

615

มิติหุ้น-สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่าจีดีพี ไตรมาส 2/64 เติบโต 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.4% จากไตรมาสแรก (กราฟด้านล่าง) โดยเศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส สะท้อนฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปี 2563 ขณะที่เมื่อเทียบรายไตรมาสแรงขับเคลื่อนหลักยังอยู่ที่การส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐ ส่วนการบริโภคภาคเอกชนหดตัว อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส เศรษฐกิจเติบโตมาตั้งแต่ไตรมาส 3/63 ทำให้ในทางเทคนิคแล้วเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่แรงส่งแผ่วลงจากวิกฤติด้านสาธารณสุขระลอกปัจจุบัน ทั้งนี้ สภาพัฒน์ปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ลง เป็นขยายตัว 0.7-1.2% จากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 1.5-2.5% สอดคล้องกับการหั่นประมาณการอย่างต่อเนื่องของหลายสำนักในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

แม้ข้อมูลไตรมาสสองออกมาดีเกินความคาดหมายของตลาด แต่ค่าเงินบาทไม่ได้ตอบรับแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีดีพีเป็นเครื่องบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจในลักษณะ Backward-looking และที่สำคัญกว่านั้นคือ ในไตรมาสปัจจุบันสถานการณ์ COVID-19 ทวีความรุนแรง ขยายวง และยืดเยื้อมากขึ้น โดยยังไม่มีสัญญาณว่าวิกฤติจะคลายตัวลงในเร็ววัน ขณะที่สภาพัฒน์ประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปียังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงหลักจากการแพร่ระบาดรวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ตลาดแรงงานที่เปราะบางมากขึ้น แม้ภาคส่งออกมีแนวโน้มเติบโตได้ราว 16.3% ในปีนี้ แต่การแพร่ระบาดอาจกระทบการผลิตเช่นกัน ทางด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์เป็น 1.5 แสนคน จากเดิมเคยคาดไว้ที่ 5 แสนคน ขณะที่วิจัยกรุงศรีคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้ออาจอยู่ที่ 26,000 รายต่อวันในช่วงต้นเดือนกันยายน และจำนวนผู้เสียชีวิตอาจสูงสุดราวกลางเดือนกันยายนนี้

ท่ามกลางความเสี่ยงด้านต่ำที่เปิดกว้างต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากมาตรการควบคุมโรคอย่างยาวนาน การกระจายวัคซีนที่ต่ำกว่าเป้าหมาย และท่าทีล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ซึ่งมีมติให้คงดอกเบี้ยด้วยเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ ทำให้เรามองว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่กนง.จะตัดสินใจใช้กระสุนดอกเบี้ยนัดสุดท้าย แม้เราประเมินว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% จะไม่ตอบโจทย์การแก้วิกฤติในรอบนี้ก็ตาม ส่วนค่าเงินบาทซึ่งอ่อนค่าทางเดียวมาแล้วราว 10% ในปีนี้ เรามองว่าปัจจัยลบถูกสะท้อนอยู่ในค่าเงินมากพอสมควรแล้ว แต่ยอมรับว่าความเปราะบางของ Sentiment และความตึงเครียดของสถานการณ์ยังมีอยู่สูง เมื่อมองไปข้างหน้า โครงสร้างเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม อาจขาดแรงดึงดูดเงินทุนไหลเข้าเมื่อเทียบกับตลาดแห่งอื่นใน Emerging Asia อย่างไรก็ตาม ศักยภาพการเติบโตที่ต่ำลงหลัง COVID-19 ไม่ได้หมายความว่าเงินบาทจะอ่อนค่าตลอดไป เพราะอุปสงค์และระดับการลงทุนที่อ่อนแอในภาคเศรษฐกิจจริงอาจทำให้ไทยวนลูปเกินดุลจากการนำเข้าต่ำอีกครั้งก็เป็นได้

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง
ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp