ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง “บมจ.เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป” หรือ ACOM ชูจุดเด่นผู้นำการให้บริการขับเคลื่อนอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน รุกขยายธุรกิจและเพิ่มฐานลูกค้าในระดับภูมิภาค

29


มิติหุ้น – ‘บมจ.เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป’ หรือ ACOM ชูจุดเด่นผู้นำการให้บริการขับเคลื่อนอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ด้วยประสบการณ์และความพร้อมของแพลตฟอร์มเทคโนโลยีในการสนับสนุนแบรนด์สินค้าต่างๆ ให้สามารถพัฒนาการ ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย ณ สิ้นปี 2564 มีฐานลูกค้าแบรนด์ไทยและแบรนด์ชั้นนำระดับโลกรวมกว่า 168 ราย เพิ่มขึ้นมากถึง 50 รายจากปีก่อนหน้า และมียอดขายสินค้าที่บริหารจัดการแบบครบวงจรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมวางกลยุทธ์รุกขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค ผนึก DKSH บุกตลาดเวียดนามหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยล่าสุดสำนักงาน ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่งแล้ว เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565
นายวีระพงษ์ (พอล) ศรีวรกุล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ ACOM เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้มุ่งขยายธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตในระดับภูมิภาค โดยใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ด้านการบริหารจัดการธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจรให้แก่แบรนด์สินค้าชั้นนำระดับโลกเกือบ 10 ปี โดยเป็นผู้นำในการให้บริการสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E – commerce Enabler) อย่างครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เมื่อพิจารณาจากเกณฑ์ยอดขายสินค้ารวม (Gross Merchandise Value หรือ GMV) โดยมีมูลค่าเป็น 1.8 เท่าเทียบกับคู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุดและมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ร้อยละ 16.5 ในปี 2563
ปัจจุบันบริษัทฯ ให้บริการใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดยนำเสนอบริการอย่างครบวงจรเพื่อสนับสนุนแบรนด์สินค้าต่างๆ ในการพัฒนาการจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซผ่านช่องทางที่หลากหลาย ทั้งเว็บสโตร์ มาร์เก็ตเพลส และโซเชียลมีเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีบริการออกแบบและพัฒนาร้านค้าออนไลน์ (Webstore Development) บริหารร้านค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ (Brand Store Operations) ให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ (E-commerce Strategy Consulting) ให้บริการคลังสินค้าครบวงจร (Warehousing and Fulfillment) รับชำระเงินและจัดส่งสินค้า (Payment and Delivery) วิเคราะห์และให้ข้อมูลเชิงลึก (Data Analytics and Insights) เพื่อกำหนดหรือปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงมีศูนย์บริการและดูแลลูกค้า (Customer Care Solutions) เพื่อช่วยเหลือแบรนด์ต่างๆ ในการสื่อสารกับลูกค้าอีกด้วย
ทั้งนี้ บริษัทฯ ใช้เงินลงทุนแล้วกว่า 800 ล้านบาท เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งในส่วนของแพลตฟอร์มเทคโนโลยี “EcommerceIQ” ซึ่งใช้ในการบริหารจัดการการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริษัทฯ ได้เชื่อมต่อแพลตฟอร์มเข้ากับซอฟต์แวร์ช่องทางการเชื่อมต่อ (Application Programing Interfaces หรือ APIs) กว่า 300 รายการ ไปยังผู้ให้บริการต่างๆ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซ ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ Payment Gateway และ Warehouse Management System หรือ WMS  เป็นต้น ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถจัดการกับธุรกรรมที่มีความซับซ้อนและสามารถรองรับคำสั่งซื้อได้มากกว่า 330,000 ออเดอร์ต่อวัน นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ซอฟแวร์ “EcommerceIQ Market Insights” ในรูปแบบ Software as a Service หรือ SaaS ซึ่งปัจจุบันให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงให้แก่แบรนด์สินค้า เพื่อให้สามารถเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคและคู่แข่ง ในการกำหนดราคาสินค้าและวางตำแหน่งการตลาดให้กับแบรนด์ได้อย่างถูกต้อง
บริษัทฯมียอดขายสินค้าที่บริหารจัดการแบบครบวงจรเติบโตอย่างแข็งแกร่ง  คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 52 จากปี 2562 ถึงปี 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรรายเดิมและการได้มาซึ่งผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรรายใหม่ โดยหากพิจารณายอดขายของผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรรายเดิมที่เริ่มใช้บริการกับบริษัทฯในปี  2559 ถึงปี 2562 พบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ระหว่างร้อยละ 35 ถึงร้อยละ 184 แสดงให้เห็นถึงการประสบความสำเร็จในการสนับสนุนแบรนด์สินค้าต่างๆในการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ ณ สิ้นปี 2564 บริษัทฯมีฐานลูกค้าแบรนด์ไทยและแบรนด์ชั้นนำระดับโลกรวมกว่า 168 ราย สุทธิเพิ่มขึ้นมากถึง 50 รายจากปีก่อนหน้า คิดเป็นร้อยละ 43 ซึ่งช่วยส่งเสริมการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของบริษัทฯอีกด้วย
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์ขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนและเพิ่มฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

  1. มุ่งพัฒนาความสัมพันธ์ในฐานะพันธมิตรกับกลุ่มผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรระดับโลกของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มจำนวนแบรนด์ รายการสินค้า และการให้บริการมากกว่า 1 ประเทศ
  2. ลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ
  3. ขยายฐานผู้ใช้บริการรายใหม่และกลุ่มสินค้าใหม่ๆ ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
  4. มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ EcommerceIQ SaaS ทั้งในด้านฟีเจอร์ต่างๆ และเพิ่มความปลอดภัยในการรักษาข้อมูล เพื่อขยายไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้น ตั้งแต่บรรษัทข้ามชาติถึงธุรกิจขนาดกลาง ด้วยต้นทุนส่วนเพิ่มที่น้อยมากเนื่องจากอยู่ในรูปแบบ Software as a Service หรือ SaaS และ
  5. การเข้าซื้อกิจการที่อาจมีขึ้นในอนาคตเพื่อขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์สู่ตลาดใหม่ เช่น เวียดนาม และขยายธุรกิจที่มีในมาเลเซีย การเสริมขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของบริษัทฯ และ แบรนด์ที่มีการขายเฉพาะในช่องทางออนไลน์ (Private Online Brands) ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงและที่จะช่วยให้บริษัทฯ ได้ประโยชน์จากความสามารถในการจัดจำหน่ายแบบหลากหลายช่องทาง (Omnichannel)

“เรามี DKSH ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการขยายตลาดชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย เป็นพันธมิตรที่ดีและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเราตั้งแต่ปี 2558 ล่าสุดบริษัทฯ ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ DKSH โดยทางบริษัทฯ จะเป็นพาร์ทเนอร์เพียงรายเดียวของ DKSH สำหรับการให้บริการธุรกิจออนไลน์แบบ Business-to-Consumer หรือ B2C ทั้งหมดในประเทศที่ ACOM ดำเนินธุรกิจ โดย DKSH ได้ถ่ายโอนและแนะนำแบรนด์ที่ต้องการขยายธุรกิจออนไลน์แบบ B2C ให้กับ ACOM จึงทำให้ไตรมาสที่ 4/2564 แบรนด์ที่ใช้บริการของเราแบบครบวงจรเพิ่มขึ้นจาก 120 แบรนด์ (ในไตรมาสที่ 3/2564) เป็น 168 แบรนด์ ทำให้เรามีโอกาสให้บริการแก่แบรนด์สินค้าใหม่หลายรายจาก DKSH นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังวางแผนเร่งขยายธุรกิจไปยังเวียดนามเพื่อสนับสนุน DKSH และลูกค้าของเรา” นายวีระพงษ์ (พอล) กล่าว
นายธนิก ธราวิศิษฏ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking and Capital Markets ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า หลังจาก บมจ.เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญ จำนวนรวมไม่เกิน  1,599,642,100 หุ้น รวมทั้งหมดคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 35.0 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 685,560,900 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.00 บาท คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 15.0 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ และ 2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยเอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป ลิมิเต็ด จำนวนไม่เกิน 914,081,200 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 20.0 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้สำหรับการลงทุนขยายธุรกิจและเข้าซื้อกิจการที่อาจมีขึ้นในอนาคต เพื่อขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์สู่ตลาดใหม่ และขยายขีดความสามารถในการให้ได้มาซึ่งผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร ใช้เป็นเงินทุนพัฒนาแพลตฟอร์ม EcommerceIQ และเทคโนโลยีในด้านอื่นๆ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ EcommerceIQ SaaS และเป็นเงินทุนหมุนเวียนโดยทั่วไป ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 สำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตการเสนอขายหุ้น IPO และแบบแสดง รายการข้อมูลฯ (ไฟลิ่ง) แล้ว
 
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp