Krungsri Talks by โกลบอลมาร์เก็ตส์ : ต่อหน้าเฟด (เธอทำอย่างนั้นได้อย่างไร)

166

ต่อหน้าเฟด (เธอทำอย่างนั้นได้อย่างไร)

ดัชนีตลาดหุ้น Wall Street ของสหรัฐฯกลับมาวิ่งขึ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ภาวะการเงินนอกภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่ตึงตัวพอที่จะเพิ่มเหตุผลสำหรับธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในการลดความแข็งกร้าวต่อการคุมเข้มนโยบายในเวลานี้ และแม้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯอาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้วแต่ยังคงสูงผิดปกติ เฟดจึงไม่ค่อยเต็มใจส่งสัญญาณเปลี่ยนจุดยืน โดยเรายังให้น้ำหนักไปที่การผ่อนคลายท่าทีของเฟดในช่วงปลายปีนี้ซึ่งอาจเป็นจังหวะจบรอบขาขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ในภาพใหญ่ ทั้งนี้ มาตรวัดชี้นำ อาทิ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และยอดคำสั่งซื้อใหม่ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจอยู่ในภาวะถดถอย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.2% และ 2.9% ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ สะท้อนทิศทางการค้าโลกแผ่วลงและกระทบการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อนึ่ง เมื่อถึงเวลาที่เฟดเปลี่ยนท่าที คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะสามารถปรับนโยบายได้ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยมากขึ้น อย่างไรก็ดี การขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไปเมื่อเทียบกับโลกมีต้นทุนเช่นกัน นั่นคือ ขีดความสามารถในการลดดอกเบี้ยเผื่อเศรษฐกิจเกิดอุบัติเหตุในระยะข้างหน้าจะถูกจำกัด

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/65 เติบโต 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะต่ำกว่าคาด แต่การบริโภคภาคเอกชนและภาคบริการบ่งชี้แรงส่งเชิงบวกชัดเจนมากขึ้น สอดคล้องกับการประเมินของกนง. ซึ่งประเดิมขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% เป็น 0.75% ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา (กราฟด้านล่าง) เพื่อดูแลการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชน แต่ยังพยายามรักษาสมดุลไม่ให้การขึ้นดอกเบี้ยกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภายใต้บริบทตลาดแรงงานของไทยที่ต่างจากหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ

สกุลเงินที่เราเชื่อว่าผ่านจุดอ่อนค่าสุดไปแล้วเมื่อเทียบกับดอลลาร์คือเงินเยน (USDJPY 139.38 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม) โดยในช่วงรอยต่อจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แรงกดดันด้านขาขึ้นต่อบอนด์ยิลด์นอกญี่ปุ่นจะเบาลง อีกทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์กำลังคลายตัว อนึ่ง ความเสี่ยงหลักของมุมมองนี้คือเงินเฟ้อของสหรัฐฯอาจค้างอยู่ที่ระดับสูงนานกว่าคาด ในทางกลับกัน เราประเมินทิศทางเงินยูโรอย่างระมัดระวัง เนื่องจากวิกฤติด้านพลังงานผ่านมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย แม้ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)ยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบในเดือนกรกฎาคม แต่ได้ออกแบบเครื่องมือใหม่ (Transmission Protection Instrument) เพื่อดูแลต้นทุนของประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาต้นทุนกู้ยืมสูง เงินยูโรมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยได้แรงสนับสนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าสหรัฐฯจะขึ้นดอกเบี้ยด้วยความดุดันน้อยลงในระยะถัดไปซึ่งสะท้อนปัจจัยของเงินดอลลาร์มากกว่าความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจยุโรปเอง สำหรับเงินบาทมีประเด็นบวกจากสมมติฐานที่ว่าเฟดจะปรับโทนในที่สุดและท่องเที่ยวฟื้นตัว อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เงินเฟ้อที่อาจสูงเรื้อรัง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จะสร้างความผันผวนให้กับอัตราแลกเปลี่ยนต่อไป

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง
ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp