GPSC จัดพิธีตอกเสาเข็มก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP ทดแทน 98 MW ตั้งเป้า SCOD ปี 67 ร่วมขับเคลื่อนอุตฯ เป้าหมายพื้นที่อีอีซี  

93

.มิติหุ้น – GPSC ได้ฤกษ์ตอกเสาเข็ม ก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ GLOW SPP 2 Replacement ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ กำลังการผลิต 98 เมกะวัตต์ มูลค่า 4,000 ล้านบาททดแทนโรงไฟฟ้าที่ปลดระวางบนพื้นที่เดิม ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ของ บริษัท โกลว์ เอสพีพี 2 จำกัด คาดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567 รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ใน EEC

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยในการเป็นประธานพิธีบวงสรวงวางศิลาฤกษ์เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ในโครงการ GLOW SPP 2 Replacement หรือ GSPP2R  วันนี้ (25 สิงหาคม 2565) ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นการก่อสร้างเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมของบริษัท โกลว์ เอสพีพี 2 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GPSC ที่ครบอายุสัญญาผลิต โดยโรงไฟฟ้าใหม่เป็นโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ (Gas Turbine) ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงพร้อมเครื่องกำเนิดไอน้ำ (HRSG) จำนวน 2 หน่วยการผลิต รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 98 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 230 ตันต่อชั่วโมง มูลค่าการลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง

“โครงการดังกล่าว คาดว่าใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 2 ปี โดยจะก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 /2567 ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการต่ออายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือ PPA กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และจะมีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี 2567 เพื่อที่จะสร้างเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าของประเทศไทย” นายวรวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ GPSC ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และไอน้ำ เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด  ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC รวมถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว และมั่นใจว่าการดำเนินการก่อสร้างจะบรรลุและสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้ ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสถียรภาพของระบบพลังงาน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโรงไฟฟ้า SPP ภายใต้เงื่อนไขสัญญา SPP Replacement ทำให้ GPSC มีความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนค่าไฟฟ้า เพราะเป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่ทำการปลดระวางหลังจากหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปีบนพื้นที่เดิม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาทดแทน ส่งผลให้ GPSC ยังคงรักษาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ SPP ซึ่งจะมีทั้งหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยราคาที่แข่งขันได้ และสามารถสร้างความมั่นคงให้กับระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp