มิติหุ้น – GPSC โดยบล.ลิเบอเรเตอร์ คาดกำไรสุทธิ Q1/68 ที่ 1,138 ลบ. เพิ่มขึ้น +32% y-y และ +14% q-q : แยกตามธุรกิจดังนี้
กลุ่มโรงไฟฟ้า IPP ปริมาณขายไฟลดลง -5% q-q โรงไฟฟ้าเก็คโค่วัน มีการหยุดผลิตราว 28 วัน จาก 4Q24 หยุดเพียง 10 วัน
กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ปริมาณขายไฟลดลง -5% q-q จากการปิดซ่อมตามแผนของลูกค้ากลุ่มปิโตรเคมี
กลุ่มโรงไฟฟ้า VSPP ปริมาณขายไอน้ำปรับตัวเพิ่มขึ้น +2% q-q
ต้นทุนการผลิต คาดจะเพิ่มขึ้น +6% q-q ตามราคาก๊าซที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ในราคาถ่านหินคาดลดลง -10% q-q แต่การดำเนินงานจากโรงไฟฟ้าเก๊กโก่วันดีขึ้นเนื่องจากจำนวนวันหยุดผลิตที่มากกว่า 4Q23 ขณะที่ราคา Ft ลดลงเพียง 3 สตางค์ทั้ง y-y และ q-q อยู่ที่ 36.72 สตางค์/ หน่วย
ค่าใช้จ่ายขายและบริหารคาด จะลดลง -25% q-q จากปกติที่ไตรมาส 4 จะมีค่าใช่จ่ายที่สูง และคาดจะมีดอกเบี้ยจ่ายลดลงอีกด้วย
ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม คาดพลิกขาดทุน 118 ลบ. หลัก ๆ จากการลดลงของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีหลังผ่านช่วงฤดูน้ำหลากไปแล้ว แต่ Avaada คาดกลับมากำไรจากค่าแสงดีขึ้น และมีการ COD เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ CFXD (ไต้หวัน) ขาดทุนเพิ่มขึ้นหลัง COD ครบแล้วทำให้ต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายการเงินเต็มที่แล้ว รวมถึงคาดจะมีรับรู้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า
อินเดียที่มีศักยภาพการเติบโต : สรุปการไป site visit ก่อนหน้านี้
- อินเดียมีศักยภาพและ GPSC มีโอกาสเติบโตในประเทศดังกล่าวจากการสนับสนุนของรัฐบาลอินเดียและแผนการเพิ่มกำลังการผลิตโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่จะมีสัดส่วนกำลังการผลิตส่วนเพิ่มราว 70% ของกำลังการผลิตใหม่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายว่าภายในปี 2032 จะมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าในประเทศเป็น 500 GW จากปัจจุบันอยู่ที่ 209 GW โดยเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตโรงไฟฟ้า Solar อยู่ที่ 40 GW ต่อปี
- อุปสงค์การใช้ไฟฟ้าในอินเดียนั้นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับการเติบโตของ GDP ของอินเดียที่คาดจะโตราว 5-6% ต่อปี
- รัฐบาลสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอาทิเช่นการให้ที่ดินในการดำเนินงาน, ลงทุนสายส่งให้ แต่หากเอกชนมีความพร้อมก็สามารถใช้ของตนเองได้
โครงการ AVAADA ณ สิ้นปี 2024 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 20,399 MW (20 GW) ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้า Solar และเป้าหมายปี 2025-2026 มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 30 GW ปัจจุบัน GPSC มีเงินลงทุนรองรับการขยายเป้าหมายดังกล่าวแล้ว และหลังจากนั้นมีแผนที่จะ IPO เพื่อเพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
สำหรับการดำเนินงานปี 2024 GPSC รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก AVAADA เพียง 64 ลบ. จากปีก่อนที่รับรู้กำไร 304 ลบ. ส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงถึง -79% y-y เนื่องจากช่วง 2Q24 GPSC มีค่าธรรมเนียมชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนด 150 ลบ. และมีค่าใช้จ่ายพนักงาน และค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้นตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น
ปี 2025 ดีต่อเนื่อง : จากต้นทุนพลังงานที่ลดลง รวมถึงแนวโน้มการดำเนินงานจากบริษัทร่วมที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เรามีปรับประมาณการธุรกิจไฟฟ้าในไทยลงจากเดิมจากปรับลดราคาค่าไฟลงจากเดิม ภายใต้สมมติฐานใหม่ เราคาดกำไรสุทธิจะเพิ่ม +25% y-y เป็น 5,096 ลบ.
ปัจจัยที่กดดันราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า : มีดังต่อไปนี้
- ราคาก๊าซธรรมชาติปรับขึ้น
- ค่า Ft ลดลง ส่งผลต่อราคาขายไฟฟ้า โดยค่า Ft จะมีการทบทวนปีละ 3 ครั้ง โดยภาครัฐ
- การหยุดซ่อมบำรุงนอกแผน
- ค่าเงินบาทอ่อนค่าจะกระทบต่อภาระหนี้เงินกู้สกุลต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น(ในรูปแบบเงินบาท)
- อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น จะกระทบดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจไฟฟ้าจะกู้ยืมเงินเพื่อโครงการไฟฟ้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะโครงการในต่างประเทศ
“ แม้นโยบายรัฐยังเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าเป็นระยะ ๆ แต่จากแนวโน้มราคาก๊าซที่ลดลงคาดจะช่วยให้การดำเนินงานมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ขณะที่การขยายการลงทุนไปต่างประเทศจะช่วยลดความเสี่ยงจากในประเทศไปบ้าง ซึ่งจะทยอยส่งผลบวกในอนาคต
แม้ราคาหุ้นจะปรับขึ้นจากประเด็นราคาก๊าซที่ลดลง แต่ยังมี upside อยู่ และยังรอการเก็บเกี่ยวจากธุรกิจในต่างประเทศ แต่ความเสี่ยงจากนโยบายรัฐจะยังกดดันราคาหุ้นให้ขึ้นได้จำกัด ”
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon