มิติหุ้น – ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นมาในเดือน เม.ย. แต่หลักๆ มาจากการปรับขึ้นของ DELTA หลังจาก DELTA ประกาศผลประกอบการดีกว่าคาดการณ์ แต่อย่างไรก็ตามให้ระมัดระวังจากราคาหุ้นที่แพง ด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณอ่อนแอเรื่อยๆ จากการจ้างงาน ความเชื่อมั่นผู้โภค PMI ที่ลดลง ขณะที่ช่วงถัดไปภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยเร่งเงินเฟ้อรวมถึงสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจที่อาจนำพาสหรัฐฯ ไปสู่ Recession ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงไทย ส่วนเศรษฐกิจไทยเต็มไปด้วยความเสี่ยง และเริ่มเห็นการปรับลดคาดการณ์ เชื่อว่าหลังจากนี้จะตามมาด้วยการปรับลดประมาณการกำไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มท่องเที่ยวเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวเสี่ยงจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่คาดการณ์กันช่วง 38 – 39 ล้านคน ขณะที่ตลาดหุ้นไทยแม้ Valuation จะไม่แพงเมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีตแต่หากเทียบกับภูมิภาคถือว่าไม่ถูกเท่าใดนัก เมื่อประกอบกับความเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกทำให้แนะว่าควรเพิ่มระมัดระวังการลงทุน และเลือกเฉพาะหุ้นที่โอกาสถูกปรับลดกำไรค่อนข้างต่ำ
- ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณชะลอตัวจากหลายๆสัญญาณไม่ว่าจะเป็น ดัชนี PMI ที่สำรวจจากสถาบัน ISM ทั้งภาคผลิตและภาคบริการที่เริ่มชะลอตัวลง จากรูปทางด้านขวามือ (รูปที่ 1) สอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่เริ่มขยับขึ้นและคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มจะขยับขึ้นขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรก็เริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยลง หากเป็นภาวะปกติอาจเห็นการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันสิ่งที่พบเห็นคือทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯอาจเร่งสูงขึ้นเพราะภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯที่ประกาศขึ้นกับนานาประเทศรวมถึงจีนที่ปรับขึ้นมากถึง 125% ข้อมูลล่าสุดจาก Bloomberg ทำการสำรวจสินค้าจาก SHEIN พบว่าบางสินค้าราคาปรับขึ้นมา 377% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (สินค้าราคา 3$ ปรับขึ้นมาเป็น 6.1$) และเชื่อว่าสินค้าอื่นๆราคาจะปรับขึ้นมาหลังจากนี้ นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้วหากพิจารณาการขยายตัวของราคาสินค้านำเข้ากับเงินเฟ้อสหรัฐฯ พบว่าทิศทางไปด้วยกัน ในขณะที่การเคลื่อนไหวของ Bond Yield พบว่าเม็ดเงินไหลออกจากสินทรัพย์ระยะยาว สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯระยะยาวที่ปรับขึ้น (อายุ 10 ปี) แต่หากเป็นระยะสั้นพบว่าเม็ดเงินไหลเข้าไป (อายุ 2 ปี) โดยปกติแล้ว 2 ปี มักคล้ายกับดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ บ่งชี้ว่านักลงทุนประเมินว่าอาจเห็นการลดดอกเบี้ยของ FED
- ปัจจัยที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้น กำลังบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มิสู้ดีมากนักและอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งมีหลายๆสัญญาณบ่งชี้ว่าสหรัฐฯ อาจไปสู่ภาวะถดถอย ยกตัวอย่างเช่น การเกิดความผิดปกติของเส้นพันธบัตรผลตอบแทนรัฐบาลสหรัฐฯในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งการเกิดความผิดปกติ (Inverted Yield Curve) แต่ปัจจุบันกลับมาเป็นภาวะปกติ (Normal Yield Curve) แต่สถิติอดีตที่ผ่านมาชี้ว่าการเกิด Recession มักเกิดในช่วงที่จาก Inverted Yield Curve กลับมาเป็น Normal Yield Curve ซึ่งคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในปัจจุบัน นอกจากเรื่องของ Yield Curve แล้วหากไปย้อนดูภาษีนำเข้าในอดีตพบว่าช่วงที่ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯปรับเพิ่มสูงขึ้นมักจะนำสหรัฐฯ ไปสู่เศรษฐกิจถดถอย
- เมื่อพิจารณาผลกระทบจากสงครามการค้ารอบปัจจุบันพบว่าเริ่มเห็นการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจทั้งโลกและไทย สำหรับเศรษฐกิจโลก IMF ออกมาปรับลดเหลือขยายตัวเพียง 8%YoY จากเดิมที่ 3.3%YoY เหตุผลหลักจากเงินเฟ้อของโลกน่าจะลดลงช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เนื่องจากผลกระทบจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่วนเศรษฐกิจไทยหลายๆเริ่มเห็นการปรับลดลงมาเหลือการขยายตัวเพียง 1.5% จากก่อนหน้าที่ 2.5% รับผลกระทบจากการส่งออกและนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเดินทางเข้ามาน้อยและติดลบเมื่อเทียบกับปีก่อน
- สำหรับประเทศไทยมีความเสี่ยงกับเรื่องภาษีของสหรัฐฯและยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าหลังผ่านพ้น 90 วัน สหรัฐฯจะดำเนินการภาษีอย่างไรกับประเทศไทย หากดูข้อมูลก็จะพบว่าไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯราว 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯกับไทยไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนในช่วงหลังจากนี้อาจเห็นการกลับมาขึ้นภาษีนำเข้าของไทย ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทย ในขณะที่หากจีนลดบทบาทการค้ากับสหรัฐฯ อาจเป็นไปได้ที่จีนต้องมองหาตลาดใหม่ด้วยการลดราคา ไทยอาจเป็นหนึ่งในประเทศที่รับสินค้าราคาถูกจากจีนแต่ในขณะเดียวกันสินค้าราคาถูกจากจีนที่ทะลักเข้ามาจะเป็นปัจจัยกดดันธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทย (SME) มีผลต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจไทย เมื่อมาดูปัจจัยที่เคยเป็นความหวังของไทยอย่างการท่องเที่ยว ข้อมูลล่าสุดพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยสะสมตั้งแต่ต้นปี – 20 เม.ย. อยู่ที่ 27 ล้านราย (+0.5%YoY) นับเป็นการขยายตัวที่ค่อนข้างต่ำและเป็นไปได้ที่เป้าหมายระดับ 38-39 ล้านคน ที่หลายๆสำนักคาดการณ์กันไว้อาจมิสามารถไปได้ถึง นอกจากนี้มีอีกข้อมูลที่น่าสนใจคือจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยลดลงติดต่อกัน 2 เดือนติดต่อ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อเช่นกัน สวนทางกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ไปญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน อาจสะท้อนถึงความน่าสนใจของไทยที่ลดลงในสายตาประชาชนกรจีน
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon