Moody‘s ส่งสัญญาณอะไรกับไทย เสี่ยงโดนDowngrade?

117

สัญญาณเตือนแรกของไทย จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่าง “Moody‘s” ได้ลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทย (Sovereign rating outlook) เป็น “เชิงลบ” (Negative) แต่ยังคงอันดับเครดิตที่ “Baa1” ในรอบ 17 ปี และตามมาด้วย ปรับลดมุมมอง (Outlook) อันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน 7 แห่งของไทย ได้แก่ BBL, EXIM Bank, KBANK, KTB, SCB, SCBX, TTB เป็น “เชิงลบ” (Negative) จาก “มีเสถียรภาพ” (Stable)

ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องปกติที่ประเทศไทย ถูก “Moody‘s” ปรับ Outlook ประเทศเดียว ทั้งๆที่ทุกประเทศทั่วโลกก็เผชิญปัญหาเดียวกัน ซึ่งแน่นอนบ้านเรามีความพิเศษกว่านั่นเอง และกรณีเลวร้ายที่สุดประเทศไทยจะมีความเสี่ยงถูกปรับลดอันความน่าเชื่อถืออย่างแน่นอนหากไม่ปรับตัวรัดเข็มขัดในสิ่งที่ฟุ่มเฟือยของภาคราชการที่เคยทำกันมา เช่นการบินไปดูงาน การจัดสรรงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

โดยเฉพาะความฉาวโฉ่ของตึก สตง.ที่ถล่มลงมาอาการมันฟ้องออกว่าบ้านเมืองเราเน่าเฟะในเรื่องการทุจริต คอรัปชั่นมานาน…จน “Moody‘s” หยิบยกมาเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องในเรื่องแผ่นดินไหวครั้งนี้ด้วย

ขณะที่มุมนักวิเคราะห์ยังมองว่า ประเทศไทยยังมีความอ่อนไหว ใน 3 ประเด็นหลักที่หากแก้ไม่ได้ก็เสี่ยงที่จะถูก Downgrade อย่างแน่นอน นั่นก็คือ ความเสี่ยงเศรษฐกิจของไทยโดยพุ่งเป้าไปที่ฐานะทางการคลัง จากหนี้ที่มีอยู่ 12 ล้านล้านบาท โดยเป็นหนี้ระยะยาว 90-95% หนี้ระยะสั้น 5% เฉลี่ยอายุหนี้ที่ถึงเวลาต้องชำระที่ 9 ปี 2 เดือนยังผ่านเกณฑ์ค่าเฉลี่ยค่อนข้างเยอะ เรื่องที่ 2 ยังคงเป็นหนี้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ 99% และมีหนี้ต่างประเทศเพียง 0.8% เท่านั้นสะท้อนความเสี่ยงหนี้ในระยะสั้นที่จำกัด และ3 โดยเฉพาะ Dollar reserves ที่ระดับ 2.3-2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่ยังสตรองอยู่ โดยรวมยังไม่เสี่ยง

…แต่ก็มีคำถามตามมาแล้วกระทรวงการคลังยังมีแผนระดมทุนเงินกู้อีกวงเงิน 5 แสนล้านบาทต่อหรือไม่และจะส่งผลกระทบฐานะการเงินการคลังของประเทศไทยอย่างไร เพราะหากอิงจากหนี้สาธารณะที่มีอยู่ราว 12 ล้านล้านบาท เทียบกับ GDP ไทยที่มีขนาด 18 ล้านล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ปัจจุบันราว 64% หากปล่อยไปตามปกติมีโอกาสจะแตะ 70% ในปี 70 หรือ อีก 2 ปี แต่หากดูตามกระแสข่าวของกระทรวงการคลังอาจส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ขยับแตะ70% ภายในปีหน้าก็ได้ ซึ่ง “Moody‘s” ก็ยังกังวลในเรื่องดังกล่าวด้วย และความเสี่ยงที่ 3.ผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐ หรือ Reciprocal Tariff ซึ่งจะกระทบภาคส่งออก ซึ่งประเทศไทยพึ่งพภาคส่งออกอยู่มากเราจะแก้ไขกันอย่างไร

อย่างไรก็ตามในอดีตประเทศไทยเคยถูก Downgrade เมื่อปี 2540 หรือช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือกว่า 28 ปีก่อน ซึ่งทุนสำรองระหว่างประเทศค่อนข้างใกล้เกลี้ยงแบงก์ชาติ ค่าเงินบาทลอยตัวจาก 25 บ. เป็น 50 บ. จนสุดท้าย IMF ต้องเข้ามาช่วยเหลือ

ขณะที่ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประเทศ นโยบายเศรษฐกิจมหภาค การเงิน และตลาดทุนได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณี Moody’s ปรับ Outlook ของไทย จาก Stable มาเป็น Negative ว่า Moody’s เป็นเจ้าแรกใน 3 Ratings Agencies ใหญ่ของโลก ที่เริ่มนำร่องปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับไทย ในรอบนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่มีนัยยะ เพราะสำหรับ Moody’s นั้น Negative Outlook เป็นก้าวแรก ที่อาจจะนำไปสู่การลด Rating ลงได้ในอนาคต เป็นการเตือนประเทศไทย มาจากความเสี่ยงที่สถานการณ์เศรษฐกิจและสถานะภาคการคลังของไทยอาจจะอ่อนแอลงไปกว่านี้

ซึ่งมาจาก นโยบาย Tariffs ของสหรัฐที่กำลังส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าของโลก ที่จะกระทบต่อมาที่ประเทศไทยซึ่งพึ่งพาต่างประเทศมาก นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนว่าหลังจากชะลอไป 90 วัน ไทยและประเทศต่างๆ จะโดนเก็บภาษีนำเข้าเท่าไร ทั้งหมดนี้ จะซ้ำเติมปัญหาเดิมที่ไทยมีก่อนหน้าอยู่แล้ว คือการที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ไม่ดีเทียบกับคนอื่นๆ หลังจบปัญหาเรื่องโควิด และปัญหาการลดลงของศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่เราโตช้าลงเรื่อยๆ

ขณะเดียวกัน Moody’s เตือนว่า Negative Outlook รอบนี้ อาจจะตามมาด้วยการลด Rating ในอนาคต ถ้าหาก

(1) เศรษฐกิจไทยอ่อนแอลงไปกว่านี้ ศักยภาพในการเติบโตลดต่ำไปกว่านี้ จากการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างในด้านต่างๆ รวมทั้งจาก ความปั่นป่วนในระบบเศรษฐกิจโลกจากนโยบายสหรัฐ

หรือ (2) ภาระหนี้ของภาครัฐไทยยังเพิ่มต่อเนื่องในช่วงต่อไป ทั้งจากปัญหาภายนอกและภายในที่จะเข้ามากระทบทำให้ไทยโตไม่ได้ หรือจากความตึงเครียดขัดแย้งทางการเมืองที่กระทบต่อความสามารถในการดำเนินนโยบายของไทย

ทั้งหมด เป็นการเตือน และแจ้งว่า Moody’s กังวลใจมองอะไรอยู่ และเขาอยากเห็นอะไร หน้าที่ของเราก็คือ เร่งแก้ไข ปรับปรุงตนเอง

ซึ่งคงต้องทำ 3 เรื่อง

(1) ไม่ทำในสิ่งที่เขากังวลใจ

(2) เตรียมการให้เศรษฐกิจไทยผ่านมรสุมจาก President Trump ไปได้ พยายามลดผลกระทบที่เกิดขึ้น

(3) มุ่งสร้างอนาคตที่แท้จริง เพราะสิ่งที่ Moody’s อยากเห็นจริงๆ คือ ศักยภาพในการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 3-4%  เป็นอย่างน้อย ซึ่งหมายความว่า เราต้องเร่งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่จะสร้างรายได้ที่แท้จริง เพิ่มศักยภาพการวิจัยของไทย แก้ไขกฏหมายที่ล้าสมัยที่เป็นโซ่ถ่วงประเทศ และที่สำคัญสุดคือ แก้ไขเรื่องการพัฒนาคนของไทย

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon