CGSI : ธปท. น่าจะลดดอกเบี้ยเหลือ 1.00% ภายในปี 2026

19

มิติหุ้น –  คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.75% สอดคล้องกับที่เราและ Bloomberg Consensus คาดการณ์
 เราคาดว่าธปท. จะปรับลดดอกเบี้ยอีกสามครั้งช่วง 2H25-2026 เนื่องจาก…
 …1) มาตรการภาษีของทรัมป์, 2) แผ่นดินไหวใน 2Q25, 3) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลดีจำกัดและเงินเฟ้อต่ำ, 4) เงินสำรองระหว่างประเทศสูง, 5) ผู้ว่าธปท. ครบวาระการดำรงตำแหน่งเดือนก.ย. 2025

คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดดอกเบี้ยเป็น 1.75%
วันที่ 30 เม.ย. 2025 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.75% ซึ่งทั้งเราและ Bloomberg consensus คาดการณ์ไว้แล้วว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.75%
ธปท. มองว่านโยบายทรัมป์เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยใน 2H25
ข้อความที่คัดลอกมาจากรายงานผลการประชุมกนง. :

1. “เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลงและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ มองไปข้างหน้า นโยบายการค้าจะเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2025 อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนยังสูงมาก”

2. “กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงด้านต่ำที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งดูแลภาวะการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป”

3. ธปท. ยังได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP เป็น 2.0% ในปี 2025 และ 1.8% ในปี 2026
เรายังคงประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.00% ในสิ้นปี 2026
เรายังคงสมมติฐานที่คาดว่าธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.00% ภายในสิ้นปี 2026

● ความเสี่ยงจากมาตรการภาษีตอบโต้ของทรัมป์ 2.0 ใน 2H25: ถึงแม้ว่าสถานการณ์การค้าและการบริโภคในประเทศน่าจะดีขึ้นใน 2Q25 หลังสหรัฐระงับการปรับขึ้นภาษี 90 วัน แต่เราเชื่อว่าความเสี่ยงยังคงมีอยู่และสะท้อนอยู่ในประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ที่ 1.8% ในปี 2025 และ 1.5% ในปี 2026 แล้ว

● ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากเหตุแผ่นดินไหวใน 2Q25: ช่วงกลางวันของวันที่ 28 มี.ค. 2025 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด โดยมีศูนย์กลางอยู่ใกล้กับเมืองมัณฑะเลย์ ของประเทศเมียนมา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คอนโดมิเนียม High-rise (สูงกว่า 20 ชั้น) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดทางภาคเหนือได้รับความเสียหาย
เรามองว่าแผ่นดินไหวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในวงกว้างและเชิงลึก ตัวอย่างเช่นยอดขายคอนโดมิเนียม high-rise อาจลดลงในระยะสั้น (บทวิเคราะห์กลุ่มอสังหาฯ: “คอนโดมิเนียมได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในไทย”, 31 มี.ค. 2025) ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอาจลดลงเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ดังนั้น เราจึงประเมินว่ามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.0-2.5 หมื่นล้านบาทหรือประมาณ 0.2% ของ GDP (Economics Update: “แผ่นดินไหวสะเทือนถึงจิตใจและการเติบโตทางเศรษฐกิจ”, 31 Mar 2025)

● มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งผลดีต่อ GDP จำกัดท่ามกลางเงินเฟ้อต่ำเชิงโครงสร้าง: เราพบว่าการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจำกัด โดยการแจกเงินเฟสแรกในเดือนก.ย. 2024 ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการบริโภคอย่างมีนัยสำคัญใน 4Q24 (Economics Update: “ตามเป้าของรัฐ GDP โต 3% ดูท้าทายมากยิ่งขึ้น”, 17 Feb 2025) และนอกจากด้านการเติบโตแล้ว เรายังคาดว่าไทยจะยังมีเงินเฟ้อต่ำ เนื่องจาก 1) สินค้าไทยเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน และ 2) มาตรการประชานิยมของรัฐบาล เช่น การลดค่าไฟฟ้า (Economics Update: “มี.ค. 2025: เงินเฟ้อลดลงตามราคาพลังงาน”, 4 Apr 2025)

● เงินสำรองระหว่างประเทศอาจนำมาใช้แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน: ประเทศไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 2.45 แสนล้านเหรียญสหรัฐในเดือนมี.ค. 2025 ซึ่งมากพอจะนำมาใช้แทรกแซงหากอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนจากการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม

● ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบันจะครบวาระในเดือนก.ย. 2025: รายงานข่าวของ Bangkok Post ในเดือนม.ค. 2025 ระบุว่า ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 ก.ย. 2025 และยืนยันจะไม่รับตำแหน่งต่อ โดย ดร.เศรษฐพุฒิ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธปท. ในปี 2020 และไม่สามารถดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 2 วาระที่สอง เพราะครบเกษียณอายุ 60 ปี

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon