SCBAM ห่วงบจ.การเงินอ่อนแอ ศก.ฟุบฉุดหลุดเกณฑ์ESG

56

SCBAM ชี้ความเสี่ยงESG เพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจผันผวน บจ.หวิดการเงินขาดสภาพคล่อง มีโอกาสหลุดเกณฑ์ ESG ปรับขั้นตอนวิเคราะห์ประเด็นเสี่ยง เข้าถึงข้อมูลก่อนเคาะลิสต์ “ถือต่อ” หรือ “ถอนลงทุน”

“วโรฤทธิ์  จีระชน” ผู้บริหารกลุ่มงานวิเคราะห์การลงทุน และESG บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBAM เปิดเผยถึงวิธีการคัดเลือกหุ้นในกองทุน รวมส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย (Thai ESGX) หลังจากที่พบกรณีศึกษามากมายในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตลาดทุนไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับประเด็น ESG (Environmental, Social, and Governance) อาทิเช่น การทุจริต ความไม่โปร่งใสที่อาจเกิดขึ้นในองค์กร ความเสี่ยงจากอาชญกรรมทางทางไซเบอร์ที่เป็นประเด็นสำคัญในยุคดิจิทัล

รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภัยธรรมชาติ กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ โดยที่ความเสี่ยงด้านปัจจัย ESG จะยิ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ รวมถึงส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

“ภาคส่วนต่าง ๆ เริ่มใส่ใจถึงปัจจัยด้าน ESG กับการลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชน นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้รัฐบาลจึงจัดทำ Thai ESGX จูงใจผ่านผลประโยชน์ทางภาษี ให้กับการลงทุน”

โควิด-19 เคราะห์ซ้ำเหตุหลุดESG

บทเรียนจากการลงทุนที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นตลาดทุนไทยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน จึงเป็นความท้าทายต่อบจ.ในไทย ที่มีความอ่อนแอทางการเงิน จึงต้องมีการติดตามการวางแผนบริหารจัดการทางการเงิน และESG ให้รองรับความเสี่ยง เพราะต้องอยมรับว่าที่ผ่านมา มีหลายบริษัทพบปัญหาทางการเงิน หลังจากโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจผันผวน จึงมีวิธีการจัดการสภาพคล่องทางการเงินในรูปแบบที่แตกต่างกัน นำไปสู่ประเด็นความเชื่อมั่นด้าน  ESG

ลิสต์ตอบโต้ “ถอน” -”ถือ” บจ.เสี่ยงESG

ดังนั้น นักลงทุนสถาบันจึงต้องปรับวิธีการเลือกลงทุนในหุ้นESG โดยมีกระบวนการ และการติดตามที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะการวางแผนรับมือ เมื่อเกิดประเด็นที่เป็นข้อถกเถียง (Controversial) ทางบลจ. กำหนดการยกระดับติดตามที่หลากหลาย เพื่อจัดการความเสี่ยงที่กระทบต่อการลงทุน  ประกอบด้วย การใช้สิทธิออกเสียงอย่างยั่งยืน (ESG Proxy Voting) การเข้าพบบริษัทในประเด็นความยั่งยืน (ESG Engagement) และการดำเนินการผ่านแนวร่วมปัจจัย ESG (ESG Collaboration) เป็นเครื่องมือสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนจากการลงทุนในระยะยาว และส่งเสริมให้ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับแนวทางด้านความยั่งยืน ลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ ESG  สร้างโลกการลงทุนที่ยั่งยืน

“เมื่อเกิดประเด็นข้อถกเถียง บลจ.จะต้องเข้าไปรับฟังข้อมูลที่แท้จริงกับบริษัท แล้วมาวางหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ชัดเจนจะถือเถียงอย่างเดียว หรือ ลดระดับการลงทุน จนถึงการ ถอนออก”