Pi : Sector Update: Banking การเติบโตท้าทายจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง

19

มิติหุ้น – กำไรสุทธิรวมของธนาคารใน 1Q25 อยู่ที่ 5.93 หมื่นล้านบาท (+5.6% YoY, +11.4% QoQ) หนุนจากกำไรจากพอร์ตลงทุนเพิ่มขึ้น และการควบคุมค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี สินเชื่อ และ NIM ที่อ่อนแอทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง ทั้งนี้  เรามองว่ากำไรสุทธิรวมของกลุ่มฯ มีแนวโน้มอ่อนแอลงในอนาคต เพราะยังขาดปัจจัยหนุนการเติบโต อีกทั้ง NIM ของธนาคารจะถูกกดดันจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น เราปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิรวมในปี 2025-26 ลง โดยคาดว่ากำไรสุทธิรวมในปี 2025  จะปรับลดลง 0.6% และเพิ่มขึ้น 2.5% ในปี 2026 ด้านการลงทุน ราคาหุ้นมีแนวโน้มที่จะผันผวนมากขึ้นภายหลังการรายงานผลการดำเนินงาน และความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่าธนาคารมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง Valuation กลุ่มฯ ซื้อขายไม่แพงที่ 0.7x PBV’25E (-0.5SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี) และผลตอบแทนเงินปันผลสูงที่ 6.7% ในปี 2025   เป็นปัจจัยลดทอนความผันผวนด้านราคา เราคงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” เลือก KTB เป็นหุ้นเด่น

กำไรสุทธิรวมใน 1Q25 ขยายตัว 5.6% YoY และ 11.4% QoQ

  • แม้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะปรับลดลงล้อกับสินเชื่อ และ NIM ที่อ่อนแอลง ธนาคาร 8 แห่งรายงานกำไรสุทธิรวมใน 1Q25 ที่ 5.93 หมื่นล้านบาท (+5.6% YoY, +11.4% QoQ) หนุนจาก (1) กำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) สูงขึ้น (2) กำไรจากการขายเงินลงทุนเพิ่มขึ้น และ (3) ค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลง
  • เราพบว่า (1) BBL KBANK KTB SCB โดดเด่นมีกำไรเติบโตทั้ง YoY และ QoQ (2) CREDIT มีกำไรสุทธิเติบโตสูง YoY แต่ลดลง QoQ (3) TTB มีกำไรลดลง YoY แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย QoQ และ (4) KKP TISCO กำไรสุทธิปรับลดลงทั้ง YoY และ QoQ

สินเชื่อลดลง QoQ และหนี้เสียเพิ่มขึ้น แต่เป็นระดับที่ควบคุมได้

  • แม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการ Easy E-Receipt 2.0 และเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 2 เข้ามาช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ธนาคารยังคงคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อใหม่ และการชำระคืนหนี้ของลูกค้าที่เกิดขึ้นเป็นปกติใน 1Q25 หลังจากมีการใช้จ่ายสูงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี สินเชื่อรวมใน 1Q25 ปรับลดลง 0.6% QoQ (-1.2% YoY) และมีเพียง BBL CREDIT SCB สินเชื่อขยายตัว QoQ ใน 1Q25
  • ผลกระทบจากเศรษฐกิจฟื้นตัวเปาะบาง โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยต่อคุณภาพสินเชื่อดีขึ้น เพราะลูกหนี้ที่เข้าโครงการยังต่ำเป้าหมายค่อนข้างมาก กอปรกับฐานสินเชื่อลดลงทำให้ NPL ratio ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเล็กน้อย QoQ ที่ 3.7% ขณะที่ Coverage ratio ของกลุ่มธนาคารเพิ่มเป็น 188% ใน 1Q25

นโยบายการค้าของสหรัฐกดดันความสามารถทำกำไรอ่อนแอลง คาดกำไรรวมปี 2025 ลดลง 0.6%

  • จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนในการเจรจาการค้ากับสหรัฐ เราคาดว่ากำไรสุทธิรวมของกลุ่มธนาคารใน 1Q25 อาจเป็นไตรมาสที่มีระดับกำไรสูงสุดของปี 2025 และเราคาดแนวโน้มกำไรจะปรับลดลงชัดเจนมากขึ้นใน 2H25 หากภาครัฐไม่มีมาตรกระตุ้นทางเศรษฐกิจเพื่อฟื้นความเชื่อมั่น และลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการค้าที่จะเกิดขึ้น
  • ความท้าทายด้านเศรษฐกิจสูงขึ้น และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง กดดันความสามารถการทำกำไรของธนาคารมีแนวโน้มอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ เราปรับลดประมาณการกำไรสุทธิรวมลง 4%/5.9% ในปี 2025-26 จากการปรับลดการขยายตัวของสินเชื่อ และ NIM อ่อนแอลง ทำให้คาดว่ากำไรรวมในปี 2025 จะปรับลดลง 0.6% YoY และเติบโตเหลือ 2.5% ในปี 2026

คงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” KTB เป็นหุ้นเด่น

เราคงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” ภายใต้ความท้าทายเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ทำให้ความสามารถทำกำไรในปี 2025 อ่อนแอลง อย่างไรก็ดี เรามองว่าพื้นฐานของกลุ่มธนาคารยังแข็งแกร่ง อัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูง 6.7% ในปี 2025 และ Valuation ไม่แพง กลุ่มฯ ซื้อขายที่ 0.7x PBV’25E (-0.5SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี) อย่างไรก็ดี ความท้าทายทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ผลการดำเนินงานที่มีแนวโน้มอ่อนแอลงในอนาคต และอัตราผลตอบแทนที่จำกัดอาจเป็นปัจจัยเชิงลบกดดันราคาหุ้นธนาคารผันผวนมากขึ้นในระยะสั้น ดังนั้น แนะนำเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนจนกว่าจะมีความชัดเจนด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หรือการลงทุนมีอัตราผลตอบแทนสูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ อัตราการทำกำไรลดลง และอัตราผลตอบแทนจำกัด เราปรับลดคำแนะนำ KBANK CREDIT เป็น “ถือ”

ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิรวมลง 4%/5.9% ในปี 2025-26 จากเศรษฐกิจชะลอตัว และ NIM ลดลง 

  • ความกังวลจากนโยบายการค้าของสหรัฐ และการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลักนำไปสูการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับลดลงที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจไทยจาก 2.9% เหลือ 1.3% – 2.0% ในปี 2025 ทั้งนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยขึ้นกับผลกระทบจากสงครามการค้า และภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจไทย
  • ขณะเดียวกันคณะกรรมการนโยบายการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.75% ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยลงติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 หลังจากปรับลดลงในเดือน ก.พ. เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อแนวโน้มลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย
  • ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่สูงขึ้น และการปรับลดลงดอกเบี้ยกระทบต่อความสามารถการทำกำไรของธนาคารลดลง ดังนั้น เราปรับลดประมาณการกำไรสุทธิรวมของกลุ่มธนาคารลง 4%/5.9% ในปี 2025-26 ทำให้คาดว่ากำไรรวมในปี 2025 ปรับลดลง 0.6% YoY และคาดการเติบโตเหลือ 2.5% ในปี 2026 จาก (1) ปรับลดสินเชื่อรวมจะไม่ขยายตัวในปี 2025 และเติบโต 2% ในปี 2026 (เดิม +2%/2.6% ในปี 2025-26) (2) ปรับลดส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ลง 20/15 bps เหลือ 3.2%/3.1% ในปี 2025-26 และ (3) ปรับลดรายได้ค่าธรรมเนียมโตลดลงเหลือ 3.2%/3.6% จากเดิมเติบโต 3.6%/3.9%
  • ภายหลังการปรับประมาณการกำไรสุทธิของเรา คาดว่ากำไรสุทธิของ BBL CREDIT KBANK KTB จะทรงตัวและเติบโตเล็กน้อยในปี 2025 และคาดกำไรของ KKP SCB TISCO TTB ปรับลดลง ผลกระทบจากการปรับลดการเติบโต และอัตราผลตอบแทนการลงทุนที่จำกัด เราปรับลดคำแนะนำของ KBANK และ CREDIT เป็น “ถือ” และปัจจุบันแนะนำ “ซื้อ” BBL KTB
  • ท่ามกลางความท้าทายจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสูงขึ้น และแนวโน้มกำไรของธนาคารอ่อนแอลงอาจกดดันราคาหุ้นผันผวนมากขึ้นหลังการรายงานผลการดำเนินงาน และการจ่ายเงินปันผลงวดปี 2024 อย่างไรก็ดี ธนาคารมีความน่าสนใจด้านการลงทุนระยะยาว เนื่องจากงบดุลแข็งแกร่ง คาดผลตอบแทนเงินปันผลสูงเฉลี่ยที่ 6.7% ในปี 2025 และ Valuation ที่ไม่แพง กลุ่มฯ ซื้อขายที่ 0.7x PBV’25E หรือราว -0.5SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี

กำไรสุทธิรวมใน 1Q25 เติบโต 5.6% YoY และ 11.4% QoQ

  • กลุ่มธนาคารรายงานกำไรก่อนสำรองหนี้ฯ และภาษี (PPOP) ที่ 1.2 แสนล้านบาท (+2% YoY, +8.4% QoQ) และกำไรสุทธิรวมที่ 5.93 หมื่นล้านบาท (+5.6% YoY, +11.4% QoQ) โดยกำไรเติบโต YoY และ QoQ หนุนจาก (1) กำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) สูงขึ้น โดยเฉพาะเพิ่มจาก BBL KBANK KTB SCB (2) กำไรจากการขายเงินลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเพิ่มจาก BBL KTB และ (3) ค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลงจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพของ KTB SCB TTB แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะปรับลดลงล้อกับสินเชื่อ และ NIM ที่อ่อนแอลง
  • เราพบว่า (1) BBL KBANK KTB SCB โดดเด่นมีกำไรเติบโตทั้ง YoY และ QoQ (2) CREDIT มีกำไรสุทธิเติบโตสูง YoY แต่ลดลง QoQ (3) TTB มีกำไรลดลง YoY แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย QoQ และ (4) KKP TISCO กำไรสุทธิปรับลดลงทั้ง YoY และ QoQ

สินเชื่อลดลงทั้ง YoY และ QoQ สะท้อนความต้องการสินเชื่ออ่อนแอ และธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อใหม่

  • สินเชื่อรวมใน 1Q25 ปรับลดลง 0.6% QoQ (-1.2% YoY) หลังจากความต้องการสินเชื่ออ่อนแอจากเศรษฐกิจฟื้นตัวจำกัดและไม่ทั่วถึงทำให้ธนาคารยังคงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อใหม่ และการชำระคืนหนี้ของทั้งลูกหนี้ธุรกิจ และลูกหนี้รายย่อย หลังจากสินเชื่อขยายตัวแข็งแกร่งใน 4Q24
  • ธนาคารส่วนใหญ่รายงานสินเชื่อลดลง โดยมีเพียง CREDIT ที่สินเชื่อขยายตัวทั้ง YoY และ QoQ ขณะที่ BBL SCB สินเชื่อขยายตัว QoQ แต่ปรับลดลง YoY สะท้อนว่าในภาพรวม

NIM ใน 1Q25 อ่อนแอต่อเนื่องผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย  

  • วัฐจักรดอกเบี้ยขาขึ้นสิ้นสุดลงในปลายปี 2023 และทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศเริ่มปรับสู่ขาลง หลังจาก กนง. เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน ต.ค. 2024 และปรับลดต่อเนื่องในเดือน ก.พ. และเม.ย. 2025 สำหรับใน 1Q25 ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เฉลี่ยของกลุ่มธนาคารอ่อนแอลงที่ 3.3% (-23 bps YoY, -17 bps QoQ) จาก (1) อัตราผลตอบแทนสินเชื่อลดลงล้อกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย (2) การเติบโตในสินเชื่อที่มีผลตอบแทนต่ำ ขณะที่สินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูงอย่างสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเชื่อส่วนบุคคลปรับลดลง และ (3) โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่เริ่มมาตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. 2024 เนื่องจากลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการเมื่อมีการชำระคืนเงินต้น ดอกเบี้ยจะถูกพักไว้หากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ส่งผลให้ผลตอบแทนของสินเชื่อลดลง
  • NIM ของธนาคารส่วนใหญ่ปรับลดลงทั้ง YoY และ QoQ ยกเว้น TISCO ที่ NIM ลดลง QoQ แต่สามารถทรงตัวได้ YoY

คุณภาพสินเชื่ออ่อนแอลง แต่อยู่ระดับควบคุมได้ ขณะที่สินเชื่อที่เข้าโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ยังต่ำเป้าหมาย

  • การฟื้นตัวเศรษฐกิจที่เปาะบาง และเป็นการฟื้นตัวแบบ K-Shaped recovery ทำให้ลูกค้ากลุ่มเปาะบาง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SME) และลูกค้าบุคคลที่มีปัญหายังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้เป็นปกติ ทำให้ ธปท. และธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่องหลายปี โดยล่าสุดโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. 2024 ยังมีจำนวนลูกหนี้ที่เข้าร่วมต่ำกว่าเป้าหมาย ทำให้ ธปท. ขยายเวลาการเข้าร่วมโครงการจากเดิมสิ้นสุดในเดือน เม.ย. ไปเป็นสิ้นสุดเดือน มิ.ย. 2025 ทั้งนี้ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เริ่มตั้งแต่ 12 ธ.ค. 2024 มีการคาดการณ์ว่าครอบคลุมลูกหนี้ 1.9 ล้านราย ยอดหนี้รวมกว่า 8.9 แสนล้านบาท โดยมีแรงจูงใจว่าลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการสามารถลดภาระค่างวดปีที่ 1-3 ให้ลูกหนี้ชำระ 50% 70% และ 90% ของค่างวดเดิม ตามลำดับ และพักดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี
  • แม้จะมีความพยายามในการฟื้นฟูและช่วยเหลือลูกหนี้มากันอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเปาะบาง ทำให้หนี้เสียยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังเป็นระดับที่ธนาคารสามารถบริหารจัดการได้ และธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้ฯ อย่างรัดกุมมาต่อเนื่องเป็นผลให้สามารถประคับประครองสถานการณ์มาได้ กอปรกับสำรองหนี้ฯ ที่ตั้งเพิ่มเติมไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยต่อฐานะการเงิน และพื้นฐานของธนาคาร
  • ธนาคารยังคงเน้นนโยบายตั้งรับ เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อใหม่ ควบคู่กับการบริหารคุณภาพสินเชื่อ ท่ามกลางความท้าทายที่สูงขึ้นจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หนี้เสียปรับเพิ่มขึ้น 2.8% QoQ (+0.6% YoY) และฐานสินเชื่อที่ลดลง ทำให้ NPL ratio ของกลุ่มธนาคารปรับสูงขึ้นที่ 3.7% ใน 1Q25 จาก 3.6% ใน 4Q24 ขณะที่ Coverage ratio ปรับขึ้นเล็กน้อยที่ 188% จาก 187% ใน 4Q24 โดย Credit cost ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 143 bps (+7 bps YoY, +1 bps QoQ)
  • KBANK บริหารหนี้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นธนาคารเดียวที่หนี้เสียปรับลดลง QoQ ใน 1Q25 ขณะที่ KTB มีหนี้เสียค่อนข้างทรงตัวจากไตรมาสก่อน ส่วนธนาคารแห่งอื่นมีหนี้เสียปรับสูงขึ้นเล็กน้อย มีเพียง BBL ที่หนี้เสียปรับขึ้น 14% QoQ เพราะมีลูกค้าบางส่วนที่ยังไม่ได้ปรับโครงสร้างหนี้ แต่การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียอยู่ในระดับที่จัดการได้ และที่สำคัญ BBL มี Coverage ratio สูงที่สุดในกลุ่มฯ ที่ 300% รองรับความไม่แน่นอนในอนาคตได้

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon