Happy Money Sharing for Financial Well-Being 2025 สร้างวัฒนธรรมการเงินในองค์กร สู่สังคมแห่งความสุขทางการเงิน

22

มิติหุ้น – ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความมั่นคงทางการเงินของคนวัยทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่ประสบปัญหารายได้น้อยกว่ารายจ่าย และขาดการวางแผนทางการเงินอย่างเป็นระบบ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเล็งเห็นความสำคัญของการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินแก่กลุ่มคนวัยทำงาน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการชีวิต สร้างวินัยทางการเงิน และยกระดับคุณภาพชีวิตให้มั่นคงอย่างยั่งยืน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดงาน “Happy Money Sharing for Financial Well-Being 2025” มุ่งสร้างวัฒนธรรมการเงิน แก่องค์กรพันธมิตร

ตลาดหลักทรัพย์ฯ พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนความรู้สู่การสร้างวัฒนธรรมทางการเงินร่วมกับองค์กรพันธมิตร เตรียมความพร้อมพนักงานในองค์กร ให้มีความรู้และทักษะทางการเงินเพียงพอ สามารถบริหารรายได้จากการทำงาน เริ่มต้นการออมและการลงทุนอย่างถูกต้อง รวมถึงเปลี่ยนทัศนคติ และปรับพฤติกรรมทางการเงินให้ดีขึ้น ผ่านรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งทฤษฎีและฝึกปฏิบัติ ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดงาน Happy Money Sharing for Financial Well-Being เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา นำเสนอภาพรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทย รวมถึงแนวทางส่งเสริมความรู้ทางการเงินในรูปแบบต่างๆ จากองค์กรต้นแบบ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อองค์กรอื่นๆ ในการนำไปพัฒนาการส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่พนักงานและขยายผลให้ผู้เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสม

เปิดเวทีกล่าวต้อนรับโดย พรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน และหัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากบทบาทด้านการระดมทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมุ่งเน้นการให้ความรู้ด้านการเงินแก่ประชาชน โดยร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ผ่านองค์ความรู้และกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการ Happy Money สุขเงินสร้างได้ เพราะเชื่อมั่นว่า “ความรู้คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง” โดยสิ่งสำคัญอยู่ที่ “การนำความรู้นั้นไปใช้” เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและ “การสร้างวินัยทางการเงิน” ความสำเร็จทางการเงินไม่ได้เกิดขึ้นจากความเข้าใจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมาพร้อมกับความสม่ำเสมอและความตั้งใจในระยะยาว ซึ่งต้องใช้เวลา ต้องอาศัยนโยบายสนับสนุนจากองค์กร เมื่อพนักงานมีความเข้าใจ มีทัศนคติที่ดี และมีวินัยต่อการจัดการการเงิน ก็จะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระดับบุคคล ครอบครัว และสังคม การสร้างสุขภาพการเงินที่ดีให้แก่พนักงานจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้พนักงานทำงานได้เต็มศักยภาพ ควบคู่ไปกับการทำงานอย่างมีความสุข เกิดพลังใจในการทำงาน ซึ่งจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

เศรษฐพล ธรรมจินดา ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งมั่นส่งเสริมความรู้ทางการเงินมีการพัฒนาสื่อความรู้หลากหลาย ทั้ง SET e-Learning  Infographic บทความ คลิปความรู้ และโปรแกรมคำนวณ พร้อมด้วยโครงการต่างๆ ที่มีกระบวนการเรียนรู้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน

ตลอดปี 2568 นี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมส่งเสริมความรู้และพัฒนาทักษะการเงินแก่องค์กรพันธมิตร ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรภาคเอกชน อย่างต่อเนื่อง ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ อาทิ SET e-Learning แหล่งเรียนรู้ออนไลน์กว่า 165 หลักสูตร, โครงการ Happy Money พี่เลี้ยงการเงิน: ส่งเสริมการเรียนรู้วางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อตนเองและส่งต่อความรู้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น, โครงการ Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้ เรียนรู้การบริหารจัดการเงินวัยเกษียณให้พอใช้ และหลักสูตร In-House ครอบคลุมหลักสูตรด้านการวางแผนการเงิน และการลงทุน มุ่งหวังที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่พนักงาน เสริมสร้างให้องค์กรขับเคลื่อนวัฒนธรรมการเงินในองค์กรสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม

มิ่งขวัญ ประเสริฐศิวพร ผู้จัดการงานส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการเงิน บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บมจ. เงินติดล้อ เชื่อว่าความรู้ทางการเงิน คือพื้นฐานที่มั่นคงของชีวิต จึงมุ่งสร้างโอกาสทางความรู้ด้านการเงิน ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการช่วยส่งเสริมความรู้กับพนักงานทุกช่วงอายุ ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน โดยตั้งแต่วันแรกของการเริ่มทำงาน พนักงานต้องรู้เป้าหมายเกษียณ และในช่วงการทำงาน องค์กรจะเสริมทักษะทางการเงินในทุกช่วงของการเติบโต และช่วงพนักงานใกล้เกษียณ ควรเตรียมพร้อมด้วยการส่งเสริมความรู้บริหารเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และพัฒนาทักษะอาชีพ ให้ใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมั่นใจ

จากการสำรวจความเป็นอยู่ของพนักงานพบว่า 1 ใน 4 ต้องการรับคำปรึกษาทางการเงิน จึงเข้าร่วมโครงการ “Happy Money พี่เลี้ยงการเงิน” กับตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างพนักงานเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยให้คำแนะนำส่งต่อความรู้ให้กับพนักงานในองค์กร เมื่อองค์กรได้พัฒนาความรู้และทักษะทางการเงินให้ พนักงาน พนักงานก็จะสามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้ การเริ่มต้นอาจไม่ง่าย แต่การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ด้านการเงินอย่างต่อเนื่องจะทำให้ “การเงิน” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ผลจากการเข้าร่วมโครงการ พนักงานสามารถวางแผนชีวิตได้ดี องค์กรเดินหน้าได้อย่างมั่นคง “เราเติบโตไปพร้อมกัน”

หทัยรัตน์ สาทสินธุ์ หัวหน้าส่วน ผู้บริหารงาน ฝ่ายกลยุทธ์ทรัพยากรบุคคลและองค์กร ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธ.กรุงไทย ต้องการให้พนักงานมีชีวิตที่มั่นคงทางการเงิน จึงเริ่มต้นสร้างวัฒนธรรมองค์กร
ที่เน้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติและสร้างวินัยทางการเงินที่ดี โดยได้ทำการสำรวจพฤติกรรมทางการเงินของพนักงาน วิเคราะห์ช่องว่าง โดยร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นองค์กรพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านความรู้ทางการเงิน มีเครื่องมือ มีกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ จึงได้กำหนดกลยุทธ์การส่งเสริมความรู้ทั้ง 5 ด้าน ร่วมกัน

  1. กระตุ้นการรับรู้ (Raise Awareness) : สื่อสารข้อมูลทางการเงินที่เข้าใจและเข้าถึงง่าย เช่น ข้อความชวนคิด คลิปความรู้ Infographic
  2. สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) : ให้พนักงานมีส่วนร่วม สนุก และรู้สึกมีคุณค่า เช่น การใช้ Application สื่อสารภายใน ชวนทำภารกิจรับเหรียญแทนเงินสดแลกของรางวัล
  3. 3. เสริมทักษะ Financial Literacy : ให้ความรู้แบบเรียนได้ เล่นได้ (Gamification) นำไปใช้ได้จริง เช่น เชิญวิทยากรมา Live แลกเปลี่ยนความรู้ ผ่าน Campaign Learn & Earn หา Top Learner มา Sharing
  4. สร้าง Change Agent : สร้างตัวแทนองค์กรเป็นพี่เลี้ยงการเงิน พร้อมช่วยเหลือให้คำแนะนำทางการเงิน
  5. ขยายผลและส่งต่อองค์ความรู้ : สร้างระบบ Knowledge Management (KM) รวบรวมองค์ความรู้ให้เข้าถึงได้ตลอดเวลา และต่อยอดได้ในอนาคต

ผลจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้วยความรู้ทางการเงิน ส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพทางการเงินที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต ทำให้พนักงานสามารถวางแผนอนาคตได้อย่างมั่นใจ ซึ่งจะช่วยให้งานได้เต็มที่ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น

ปิดท้ายด้วยความรู้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการออมเพื่อวัยเกษียณ ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น กรรมการและเลขานุการ สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  กล่าวว่า ปัจจุบัน PVD ยังเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน อาทิ อัตราพนักงานที่ลงทุนใน PVD ยังต่ำ จำนวนสมาชิกและจำนวนกอง PVD ที่มีแนวโน้มลดลง โครงสร้างกองทุนยังไม่ยืดหยุ่น ทางเลือกการลงทุนในบางองค์กรยังไม่หลากหลาย มีการกระจุกตัวของการลงทุน และความรู้ทางการเงินของพนักงานยังจำกัด HR ขององค์กรทุกแห่ง จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาโครงสร้างของ PVD เพื่อสร้าง “วัฒนธรรมการออม” ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน โดยแนะนำแนวคิดการออมผ่าน PVD เตรียมความพร้อมทางการเงิน เพื่อชีวิตหลังเกษียณในระยะยาวได้อย่างมั่นคง 4 ประการ

  1. ส่งเสริมให้พนักงานเป็นสมาชิก PVD แบบ Auto Enrollment : ให้พนักงานเข้าร่วม PVD โดยอัตโนมัติ เมื่อเริ่มงานและเปิดโอกาสให้ลาออกได้ภายหลัง เพื่อไม่เป็นการบังคับ แต่สร้างนิสัยการออมตั้งแต่ต้น
  2. ส่งเสริมให้มี Employee’s Choice : ให้พนักงานมีสิทธิเลือกแผนลงทุนที่หลากหลาย ครอบคลุ่มความเสี่ยงต่ำ เสี่ยงกลาง และเสี่ยงสูง ตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้
  3. ส่งเสริมการมีแผนแบบ Lifepath : ออกแบบแผนลงทุนที่ปรับสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงตามอายุของสมาชิกโดยอัตโนมัติ เหมาะสมกับวัยของผู้ลงทุนเพื่อช่วยให้การลงทุนมีประสิทธิภาพในระยะยาว
  4. ส่งเสริมให้มีการคงเงิน PVD หลังเกษียณ : ช่วยให้เงินสามารถเติบโตได้ต่อผ่านการลงทุน และให้ผลตอบแทนดีกว่าการถอนมาเก็บในบัญชีเงินฝากทั่วไปที่ให้ดอกเบี้ยต่ำ

โครงการ Happy Money สุขเงินสร้างได้ แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้มีความมั่นคงทางการเงินได้อย่างยั่งยืน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งมั่นพัฒนาความรู้ทางการเงินการลงทุน และพร้อมสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ นำความรู้การบริหารจัดการเงินไปสู่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเงินในองค์กรที่ยั่งยืน นำไปสู่สังคมแห่งความอยู่ดีมีสุขทางการเงิน องค์กรที่สนใจเข้าร่วมโครงการกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.set.or.th/happymoney สอบถามโทร 0 2009 9999

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon