มิติหุ้น – 27 พ.ค. 68 – TISCO ESU ชี้ตลาดหุ้นโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอ หลังฟื้นตัวแรงแต่พื้นฐานกลับอ่อนแอลง จับตาสงครามการค้ายืดเยื้อ – ประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังมีความเสี่ยง แนะนักลงทุนทยอยขายทำกำไรรับมือความผันผวนครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่อ่อนไหวต่อวัฏจักรเศรษฐกิจ ด้านราคาน้ำมันโอกาสฟื้นตัวยังมีจำกัด
นายธนธัช ศรีสวัสดิ์ นักกลยุทธ์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Thanathat Srisawast, Strategist, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว หลังจากปรับตัวฟื้นขึ้นอย่างแข็งแกร่งสู่ระดับก่อนวัน Liberation Day ท่ามกลางบรรยากาศเชิงบวกจากความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และสหราชอาณาจักร แต่แรงขับเคลื่อนดังกล่าวเป็นปัจจัยสนับสนุนชั่วคราวเท่านั้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงเชิงโครงสร้างยังคงอยู่และมีแนวโน้มจะกดดันตลาดในระยะถัดไป
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ควรให้ความสำคัญคือ ระดับการประเมินมูลค่าหุ้น (Valuation) ที่เริ่มตึงตัว โดยดัชนี S&P 500 มี Forward P/E เพิ่มขึ้นแตะระดับเกือบ 22 เท่าแล้ว หรือเทียบเท่ากับช่วงที่ GDP สหรัฐฯ เติบโตได้ในระดับร้อนแรง (Overheat) ในปี 2566-2567 สวนทางกับภาพระยะข้างหน้าที่เศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบางและมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง
แม้จะมีข่าวดีเรื่องการเจรจาการค้าบ้าง แต่ยังมีข้อจำกัดในประเด็นสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ยังคงยืนยัน อัตราขั้นต่ำ (Floor Tariff Rate) ของภาษีศุลกากรที่ระดับ 10% แม้กับประเทศพันธมิตรใกล้ชิดอย่างสหราชอาณาจักร และเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ ส่วนจีนแม้จะได้รับการผ่อนปรนภาษีนำเข้าชั่วคราวจาก 145% เป็น 30% จนกว่าจะเจรจาทางออกสุดท้ายกันได้ แต่ก็ยังถือเป็นอัตราที่สูงมาก ขณะเดียวกันประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังส่งสัญญาณเตรียมปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากสหภาพยุโรปเป็น 50% หากการเจรจาไม่มีความคืบหน้า
สถานการณ์เหล่านี้สะท้อนแนวโน้มสงครามการค้ายังคงยืดเยื้อ และโลกอาจกำลังเข้าสู่ “ยุคลัทธิพาณิชย์นิยมสมัยใหม่ (Modern Mercantilism)” ที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศมหาอำนาจเป็นหลัก มากกว่าการค้าเสรี ส่งผลกระทบเชิงลบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นแต่คุณภาพลดลง
อีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันตลาด คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 4.5% ตามที่เคยประเมินไว้ คาดว่าจะสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อ Valuation ของสินทรัพย์เสี่ยงในระยะข้างหน้า
ภายใต้บริบทดังกล่าว TISCO ESU แนะนำให้ทยอยลดน้ำหนักในหุ้นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อวัฏจักรเศรษฐกิจ อาทิ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) และใช้จังหวะการฟื้นตัวของตลาดในรอบนี้เป็นโอกาสในการทยอยขายทำกำไร เพื่อบริหารความเสี่ยง
ขณะที่อีกสินทรัพย์เสี่ยงที่มองว่ามีโอกาสปรับขึ้นได้จำกัดคือ ราคาน้ำมันดิบ โดยเราปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate Crude Oil (WTI) ลงสู่ระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงที่เหลือของปี สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน OPEC ที่หันหลังให้กับการรักษาระดับราคาน้ำมันในกรอบ 70–90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมุ่งเน้นการผลิตน้ำมันเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์เชิงภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น
“การตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของ OPEC ในช่วงที่ผ่านมา อาจเป็นความพยายามส่งสัญญาณเชิงบวกก่อนการมาเยือนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สะท้อนความสำคัญของการพยายามพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย ภายใต้แนวทางของ OPEC ที่เปลี่ยนไป ประกอบกับแรงกดดันจาก Sentiment เชิงลบของตลาดการเงินต่อตลาดน้ำมันที่รุนแรงกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น ทำให้เราประเมินว่า โอกาสฟื้นตัวของราคาน้ำมันในระยะนี้ค่อนข้างจำกัด” นายธนธัช กล่าว
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon