มิติหุ้น – เศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นทั้งด้านการเติบโตและเสถียรภาพทางการคลัง ส่วนผลจากสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจจีนอาจบรรเทาลงเพียงชั่วคราว
สหรัฐ
ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น หลังสภาล่างเห็นชอบร่างกฎหมายภาษีของรัฐบาลทรัมป์ ในเดือนพฤษภาคม แม้ว่าดัชนี PMI เบื้องต้น ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ 52.3 จากเดือนก่อนที่ 50.2 ส่วนภาคบริการเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 52.3 จาก 50.8 แต่เริ่มเห็นสัญญาณการลดลงของการจ้างงานจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า ขณะเดียวกันประธานาธิบดีทรัมป์ขู่เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรปที่ 50% และถ้าผลิต iPhone นอกสหรัฐฯ ต้องเสียภาษี 25% คาดเริ่มวันที่ 9 กรกฎาคม
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 19 เดือน ที่มากกว่า 5% สะท้อนความกังวลเสถียรภาพทางการคลังภายหลังสภาผู้แทนราษฎรมีมติอนุมัติร่างกฎหมายภาษีและงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลให้หนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีกราว 3.8 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 10 ปี ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 ผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรที่คาดว่าจะเริ่มเห็นผลชัดมากขึ้น ทั้งนี้ นโยบายการค้าอาจสร้างความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะนี้ วิจัยกรุงศรีจึงประเมินว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 17-18 มิถุนายนนี้ ก่อนที่จะเริ่มพิจารณาปรับลดในช่วงครึ่งปีหลัง
ญี่ปุ่น
การส่งออกของญี่ปุ่นเริ่มชะลอตัว ขณะที่ความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ในเดือนเมษายน ยอดส่งออกของญี่ปุ่นชะลอตัวลงสู่ระดับ 2% YoY จากเดือนก่อนที่ 4% ขณะที่ดัชนี PMI เบื้องต้น ภาคการผลิตในเดือนพฤษภาคมยังคงอยู่ในภาวะหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ส่วนภาคบริการลดลงสู่ระดับ 50.8 จากเดือนก่อนที่ 52.4 นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรเตรียมเร่งระบายข้าวจากคลังสำรองด้วยราคาที่ต่ำลงอย่างมาก เพื่อป้องกันผู้บริโภคหันไปซื้อข้าวนำเข้าราคาถูก ขณะเดียวกันรัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมเปิดการเจรจาการค้ารอบที่ 3 กับสหรัฐฯ ในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้
จากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและฐานะทางการคลังส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวพิเศษของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ภายหลังมีข่าวว่าบางพรรคการเมืองอาจพิจารณาผลักดันให้มีการปรับลดภาษีการบริโภค (VAT) ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ยอดส่งออกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมส่งสัญญาณชะลอตัวหลังถูกกดดันจากมาตรการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่เริ่มบังคับใช้ในเดือนเมษายน และเพิ่มความเสี่ยงที่ญี่ปุ่นอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาส 2 ภายใต้ความเสี่ยงดังกล่าว วิจัยกรุงศรีคาดว่า BOJ จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% เพื่อเป็นแรงหนุนทางเศรษฐกิจอย่างน้อยจนถึงช่วงปลายปีนี้
จีน
เศรษฐกิจภายในประเทศของจีนยังเปราะบาง ขณะที่แรงกดดันจากสงครามการค้าผ่อนคลายลงชั่วคราว ยอดค้าปลีกสินค้าขยายตัวชะลอลงจาก 5.9% YoY ในเดือนมีนาคม เป็น 5.1% ในเดือนเมษายน ส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเติบโตชะลอลงจาก 7.7% เป็น 6.1% สอดคล้องกับดัชนียอดคำสั่งซื้อใหม่ในภาคการผลิต ซึ่งพลิกกลับมาอยู่ในโซนหดตัวจาก 51.8 เป็น 49.2 อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สหรัฐฯ และจีนลดภาษีนำเข้าระหว่างกันชั่วคราวตั้งแต่ 14 พฤษภาคม การค้าเริ่มปรับดีขึ้น สะท้อนจากค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ณ 15 พฤษภาคม จากเส้นทางเซี่ยงไฮ้ไปยังลอสแอนเจลิสและนิวยอร์กเพิ่มขึ้น 15.6% และ 19.3% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ตามลำดับ
ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจล่าสุดของจีนสะท้อนถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะที่การขยายตัวในระยะที่ผ่านมาพึ่งพามาตรการกระตุ้นซึ่งส่งผลบวกเพียงระยะสั้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่เริ่มผ่อนคลายลง อาจส่งผลให้สหรัฐฯ เร่งนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูกาล Back-to-School ในไตรมาส 3 และเพื่อเตรียมการก่อนสิ้นสุดการลดภาษีนำเข้าชั่วคราวในวันที่ 14 สิงหาคม ดังนั้น การส่งออกสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวที่ -21% ในเดือนเมษายน และน่าจะทำให้ผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 อยู่ในระดับจำกัด
เศรษฐกิจไทย
ทางการปรับเปลี่ยนงบกระตุ้นเศรษฐกิจและมีการปรับเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนในภาคธุรกิจ เพื่อลดผลกระทบจากแรงกดดันภายนอก
รัฐบาลปรับใช้งบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรองรับผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งประกอบด้วย (i) โครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำ (ii) โครงการลงทุนด้านคมนาคม (iii) โครงการลงทุนพัฒนาการท่องเที่ยว และ (iv) โครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ทั้งนี้ วางแผนให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาส 3 หรือทำเป็นงบผูกพันก่อนสิ้นสุดปีงบประมาณ 2568
การปรับการใช้งบประมาณจากการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไปสู่การลงทุนในโครงการขนาดเล็ก-กลาง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่เผชิญแรงกดดันจากนโยบายภาษีทางการค้าของสหรัฐฯ โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบบริหารจัดการน้ำ การคมนาคม และการท่องเที่ยว นอกจากจะสร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นผ่านการจ้างงานและการใช้จ่ายของรัฐแล้ว ยังช่วยเสริมศักยภาพของการผลิตในระยะยาว ขณะเดียวกันโครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนอาจเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยในการกระจายรายได้ และเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจฐานราก อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของมาตรการเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโครงการ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณที่รวดเร็วและกระจายลงสู่กลุ่มเป้าหมายได้ตามแผนที่วางไว้ หากภาครัฐสามารถผลักดันให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้จริงภายในปีงบประมาณก็จะสามารถสร้าง multiplier effect ที่มากกว่าการแจกเงินแบบครั้งเดียวซึ่งมีผลระยะสั้นและอาจกระจุกตัวในบางกลุ่มผู้บริโภค ทั้งนี้ ควรมีกลไกติดตามและประเมินผลที่ชัดเจน เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความคุ้มค่าทางการคลังในระยะยาวได้อย่างแท้จริง
แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ยังอ่อนแอ ขณะที่ BOI มีการปรับเกณฑ์เพื่อส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ประกาศมาตรการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยประกอบด้วย (i) ส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพของ SMEs ไทย (ii) งดส่งเสริมกิจการที่มีความเสี่ยงจากมาตรการการค้าต่างประเทศ (iii) กำหนดเงื่อนไขกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญ และ (iv) ปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างงานบุคลากรต่างชาติ นอกจากนี้ ยังออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการด้านท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด โดยให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม เช่น จากเดิม 5 ปี เป็น 8 ปี สำหรับกิจการสร้างแหล่งท่องเที่ยว และจากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี สำหรับกิจการโรงแรม
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ยังมีความเปราะบาง ได้แก่ (i) สภาพัฒน์ฯ รายงานการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสแรกของปียังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ที่ -0.9% YoY (ii) มูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ใน ไตรมาส 1 อยู่ที่ 2.27 แสนล้านบาท ลดลง 7.8% YoY และ (iii) ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายนปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ที่ 89.9 ข้อมูลเหล่านี้อาจเกิดจากภาคธุรกิจตัดสินใจชะลอการลงทุน ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านนโยบายภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ทั้งนี้ แม้ล่าสุด BOI ได้มีการปรับปรุงเกณฑ์สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการลงทุนทั้งในภาคการผลิตและภาคท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม คาดว่ามาตรการเหล่านี้อาจไม่เพียงพอในการเร่งฟื้นฟูการลงทุนในวงกว้าง ขณะที่ภาคธุรกิจยังรอความชัดเจนจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจแกนหลัก นโยบายของภาครัฐที่ทันต่อเหตุการณ์และตรงกลุ่มเป้าหมายอาจมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจ แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนในปี 2568 จึงยังมีความเสี่ยงที่จะหดตัวต่อเนื่อง และกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon