SCB EIC จับตาโดมิโนภาษีสหรัฐฯ…จากเหล็กสู่เครื่องใช้ไฟฟ้า

25

มิติหุ้น – สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ โดยมีอัตราภาษีสูงสุดถึง 50% นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯ ได้เริ่มทยอยประกาศใช้นโยบายภาษีนำเข้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยเริ่มโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษีนำเข้า 10% จากสินค้าทุกประเทศ (Universal tariffs) และภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ที่อยู่ระหว่างเลื่อนการบังคับใช้ออกไป 90 วัน จนถึงวันที่ 9 ก.ค. 2025 นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ออกประกาศมาตรการภาษีเฉพาะสินค้า (Specific tariffs) ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ออกประกาศมาตรการภาษีเฉพาะสินค้าเพิ่มเติม

โดยขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง (Derivative products) ที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ ซึ่งรวมถึงสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้ HS code 84 และ 85 รวม 10 รายการ เช่น เครื่องซักผ้า, ตู้เย็น, เครื่องอบผ้า และเครื่องล้างจาน เป็นต้น โดยทุกประเทศจะถูกเก็บภาษีสูงสุดถึง 50% ตามสัดส่วนของมูลค่าเหล็กที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ ยกเว้นสหราชอาณาจักร (UK) ที่อยู่ระหว่างได้รับการผ่อนผันให้เสียภาษี 25% และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ส่วนประกอบของเหล็กที่หลอมในสหรัฐฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็น 0% ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2025 ที่ผ่านมา โดยการปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ และลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าทุน เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม เป็นต้น

การปรับขึ้นภาษีครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยใน 5 กลุ่มสินค้า

มาตรการภาษีระลอกใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยทั้งหมด 5 รายการ ได้แก่ ตู้เย็น (HS CODE 8418.10), ตู้แช่แข็ง (HS CODE 8418.40), เครื่องอบผ้าขนาดใหญ่ (HS CODE 8451.29), เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ (HS CODE 8450.20) และเครื่องล้างจาน (HS CODE 8422.11) ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ รวมกัน 153.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024 คิดเป็นสัดส่วนราว 4.1% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีครั้งนี้ค่อนข้างสูง ได้แก่ เครื่องล้างจาน, เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ และตู้เย็น เนื่องจากมีสัดส่วนการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ อยู่ที่ 56%, 28% และ 13% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในแต่ละหมวดสินค้า ตามลำดับ

SCB EIC คาดว่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2025 จะหดตัวที่ -1.9%YOY และมีแนวโน้มจะหดตัวมากขึ้นที่ -2.1%YOY ในปี 2026 จาก Trump’s tariffs

การปรับขึ้นภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทย ทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น และจะต้องมีการพิจารณาโครงสร้างต้นทุนใหม่ทั้งหมดสำหรับสินค้าในรายการที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษี นอกจากนี้ อัตราภาษีที่สูงขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าที่ผู้บริโภคสหร้ฐฯ ต้องจ่ายแพงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากไทยและแนวโน้มการส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย SCB EIC คาดว่ามูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย (รวมสินค้ารายการอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่โดนเรียกเก็บภาษีรอบนี้) มีแนวโน้มหดตัว -1.9%YOY ในปี 2025 และมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องที่ -2.1%YOY ในปี 2026 จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและผลกระทบต่อเนื่องจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ

ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์

ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจาก Specific tariffs ที่เพิ่งประกาศอย่างเร่งด่วน ด้วยการประเมินความเสี่ยงในกลุ่มสินค้าที่เสี่ยงสูง มีการพิจารณาโครงสร้างต้นทุนของชิ้นส่วนในการผลิตที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบและบริหารต้นทุนเพื่อชดเชยผลกระทบจากภาษีเหล็กที่จะถูกเก็บเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับกลยุทธ์ด้านการค้า โดยจะต้องมีการกระจายความเสี่ยงด้วยการขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น อาเซียน, ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา เป็นต้น เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน จะต้องมีการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานการผลิต ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตให้มากขึ้น และมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า ทั้งการเลือกใช้วัสดุ การเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น รวมถึงจะต้องเร่งส่งเสริมการทำ R&D เพื่อเลือกใช้วัสดุทดแทนการใช้เหล็ก เช่น อะลูมิเนียมรีไซเคิล และคอมโพสิตไฟเบอร์ เป็นต้น และสิ่งที่จะขาดไม่ได้คือการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนงบประมาณด้าน R&D เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ และส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการผลิตมากขึ้น เพื่อให้ไทยพัฒนาไปสู่การเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่สำคัญของอาเซียน

ความท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ากำลังเผชิญอาจไม่ใช่จุดจบ แต่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เป็นแรงผลักให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวและยกระดับศักยภาพการผลิต เพื่อรับมือกับสมรภูมิการค้าโลกที่เปลี่ยนไป เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แข็งแกร่งในอนาคตต่อไป

 KEY POINTS

สหรัฐฯ ออกประกาศใหม่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ

นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ประกาศใช้นโยบายภาษีนำเข้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษีนำเข้า 10% จากสินค้าทุกประเทศ (Universal tariffs) และภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ที่อยู่ระหว่างเลื่อนการบังคับใช้ออกไป 90 วัน จนถึงวันที่ 9 ก.ค. 2025 นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังออกประกาศมาตรการภาษีเฉพาะสินค้า (Specific tariffs) ภายใต้มาตรา 232 ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการภาษีเฉพาะสินค้าที่ไทยถูกเรียกเก็บไปแล้ว ได้แก่ สินค้าในกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนฯ 25%, สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม 50% และยังมีสินค้าบางรายการที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาสอบสวนเพื่อเรียกเก็บภาษี เช่น เซมิคอนดักเตอร์, ผลิตภัณฑ์ยา และสินค้าเกษตร เป็นต้น โดยในระยะข้างหน้าคาดว่ากลุ่มสินค้าไฮเทค เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, อุปกรณ์สื่อสาร จะเป็นกลุ่มสินค้าในลำดับถัดไปที่สหรัฐฯ เล็งที่จะพิจารณาเก็บภาษีเฉพาะสินค้าเพิ่มเติม (รูปที่ 1)

ท่ามกลางมาตรการภาษีที่ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ได้มีคลื่นลูกใหม่ที่ซัดเข้ามายังฝั่งไทย เมื่อกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ประกาศการปรับขึ้นภาษีเฉพาะเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง (Derivative products) กับเหล็กภายใต้มาตรา 232[1] ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งการปรับขึ้นภาษีตามประกาศดังกล่าวได้รวมถึงการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญ ที่ครอบคลุมทั้งการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและเชิงพาณิชย์ ในหมวด HS code 84 กับ 85 ยกเว้นสหราชอาณาจักร (UK) ที่อยู่ระหว่างได้รับการผ่อนผันให้เสียภาษี 25% และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ส่วนประกอบของเหล็กที่หลอมในสหรัฐฯ ที่จะได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งประกาศดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลสหรัฐฯ มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในประเทศสามารถแข่งขันได้มากขึ้นและลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กจากต่างประเทศ สำหรับเม็กซิโกที่มีข้อได้เปรียบจากความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ (USMCA) และเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญ ก็จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ เช่น Samsung และ LG ที่มีฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ในเม็กซิโก ไม่ได้ใช้เหล็กที่หลอมในสหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องเสียภาษีเท่ากับประเทศอื่น ๆ ด้วย

รูปที่ 1 : สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าบางรายที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบสูง เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า จะถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บ Specific tariffs ตามภาษีเหล็ก

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จาก White house, U.S. Customs and Border Protection และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ

รายการสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง (Derivative products) กับเหล็ก ภายใต้มาตรา 232 มีทั้งหมด 6 หมวด (10 รายการ) คือ

  • ตู้เย็นตู้แช่แข็ง (HS Code 10.00, 8418.30.00 และ 8418.40.00)
  • เครื่องอบผ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ (HS Code 21.00 และ 8451.29.00)
  • เครื่องซักผ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ (HS Code 11.00 และ 8450.20.00)
  • เครื่องล้างจาน (HS Code 11.00)
  • เตาอบ (HS Code 60.40)
  • เครื่องกำจัดขยะอาหาร (HS Code 80.20)

อย่างไรก็ดี การเก็บภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้าจะพิจารณาภาษีเฉพาะมูลค่าส่วนประกอบของเหล็กในสินค้าเท่านั้น

การเรียกเก็บภาษีในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจะไม่ได้ประเมินภาษีจากมูลค่ารวมของผลิตภัณฑ์ แต่จะพิจารณาเฉพาะมูลค่าส่วนประกอบเหล็ก (Steel content) ในแต่ละสินค้าเท่านั้น[2] โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบและอยู่ในพิกัดศุลกากรที่สหรัฐฯ กำหนด (HS Code 9903.81.91 และ 9903.91.98) ในทุกประเทศ จะโดนเรียกเก็บภาษี 50% ของมูลค่าของเหล็กในสินค้า ยกเว้นสินค้านำเข้าจากสหราชอาณาจักรที่จะถูกเรียกเก็บเพียง 25% จากมูลค่าของเหล็กในสินค้า ขณะที่สินค้าเหล็กแปรรูปที่ใช้เหล็กหลอมในสหรัฐฯ จะถูกจัดอยู่ในหมวดยกเว้นภาษี หรือ 0% (รูปที่ 2)

รูปที่ 2 : ทุกประเทศจะโดนเรียกเก็บภาษี 50% ของมูลค่าเหล็กที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบในสินค้า ยกเว้นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กแปรรูปที่หลอมในสหรัฐฯ ซึ่งจะถูกยกเว้นภาษี

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จาก U.S. Customs and Border Protection และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ

IMPLICATIONS

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบของไทยไปสหรัฐฯ เช่น เครื่องล้างจาน, เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ และตู้เย็น จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่เกี่ยวกับเหล็กระลอกใหม่

ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าหลักในการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย โดยมีรายการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้า
ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ตามพิกัดที่คาดว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีทั้งหมด 5 รายการ ได้แก่ สินค้าตู้เย็น (HS CODE 8418.10) ตู้แช่แข็ง (HS CODE 8418.40) เครื่องอบผ้าขนาดใหญ่ (HS CODE 8451.29) เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ (HS CODE 8450.20) และเครื่องล้างจาน (HS CODE 8422.11) โดยสินค้าที่ถูกเรียกเก็บภาษีทั้ง 5 รายการดังกล่าวข้างต้น มีมูลค่าการส่งออกในปี 2024 รวมกัน 153.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย SCB EIC คาดว่าเครื่องล้างจาน, เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ และตู้เย็น มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง (Derivative products) กับเหล็กภายใต้มาตรา 232 มากกว่าสินค้ารายการอื่น ๆ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ทั้งสัดส่วนและมูลค่าที่มากกว่าสินค้ารายการอื่น ๆ สะท้อนได้จากข้อมูลของ Trade map ในปี 2024 ที่พบว่า ไทยมีสัดส่วนการส่งออกเครื่องล้างจาน (HS Code 8422.11.00), เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ (HS Code 8450.20.00) และตู้เย็น (HS Code 8418.10.00) ไปยังตลาดสหรัฐฯ อยู่ที่ 56%, 28% และ 13% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในแต่ละหมวดสินค้า ตามลำดับ (รูปที่ 3)

รูปที่ 3 : การส่งออกเครื่องล้างจาน, เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ และตู้เย็น จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ รอบใหม่ มากกว่าสินค้ารายการอื่น ๆ เนื่องจากพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Trade map

SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมของไทยในปี 2025 จะหดตัวที่ -1.9%YOY และมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องที่ -2.1%YOY ในปี 2026 จากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งจากผลกระทบของ Trump’s tariffs และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าคาด

แม้ว่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2025 จะขยายตัวสูงถึง 14%YOY จากอานิสงส์ในระยะสั้นของการเร่งนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ (Front load) และได้รับประโยชน์บางส่วนจากผลกระทบของกำแพงภาษีของจีน ที่สูงกว่าไทย อย่างไรก็ตาม การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในภาพรวมซึ่งรวมตลาดอื่น ๆ ยังมีแนวโน้มชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปสหรัฐฯ ราว 30% ของสัดส่วนการส่งออกทั้งหมดในปี 2024 เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ทั้งความเสี่ยงจากภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ที่ยังอยู่ระหว่างเลื่อนการบังคับใช้และรอผลการเจรจาการค้า อีกทั้ง การปรับขึ้นภาษีเฉพาะสินค้า (Specific tariffs) ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องกับภาษีเหล็กคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยไปตลาดสหรัฐฯ บางรายการ SCB EIC คาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย (รวมสินค้ารายการอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่โดนเรียกเก็บภาษีรอบนี้) ในปี 2025 มีแนวโน้มหดตัว -1.9%YOY จากผลกระทบของอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงเป็นสำคัญ ขณะที่ในปี 2026 SCB EIC คาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าจะยังคงมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องที่ -2.1%YOY (รูปที่ 4) จากปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลายประการ ได้แก่

  • เศรษฐกิจโลกชะลอตัว : ความไม่แน่นอนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อและการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดส่งออกหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ, เวียดนาม และออสเตรเลีย เป็นต้น
  • การแข่งขันที่สูงขึ้น : แม้ว่าประเทศคู่แข่งหลักอย่างเม็กซิโกจะเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษี แต่เม็กซิโกยังมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ นอกเหนือจากรายการที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีเหล็กและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เนื่องจากยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) และมีแนวโน้มที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่ต่ำกว่าไทย และยังมีข้อได้เปรียบจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้สหรัฐฯ (Nearshoring) ซึ่งส่งผลให้เม็กซิโกสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้อย่างต่อเนื่อง

รูปที่ 4 : การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยในปี 2026 มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จากผลกระทบ
ของนโยบายภาษีสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงจากคาดการณ์เดิม

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

การปรับขึ้นภาษีเฉพาะสินค้า (Specific tariffs) รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่เกี่ยวกับเหล็ก คาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยในภาพรวม ทั้งทางตรงและทางอ้อม 1) ผลกระทบทางตรง การปรับขึ้นภาษีคาดว่าจะส่งผลให้กำลังซื้อและอุปสงค์ในตลาดสหรัฐฯ ลดลง จากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นและจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยในระยะข้างหน้า และ 2) ผลกระทบทางอ้อม ความไม่แน่นอนของห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากเหล็กเป็นวัสดุสำคัญในการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยหากผู้ประกอบการเลือกใช้ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีส่วนประกอบของเหล็กตามพิกัดศุลกากร (HS Code 9903.81.91 และ 9903.91.98 ) ที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม ผู้ประกอบการจะต้องมีการพิจารณาโครงสร้างต้นทุนใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย ทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งอาจนำไปสู่การย้ายฐานการผลิตในระยะต่อไปได้

ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่กำลังจะมาถึง

ท่ามกลางพายุจากสงครามการค้าที่คอยซัดเข้าฝั่งไทยอยู่เป็นระลอก ผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจำเป็นต้องเร่งวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่กำลังจะมาถึง โดยต้องเริ่มจากสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินความเสี่ยงสำหรับกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีครั้งนี้ โดยพิจารณาจากโครงสร้างต้นทุนของชิ้นส่วนในการผลิตที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ รวมถึงจะต้องมีการบริหารต้นทุนเพื่อชดเชยผลกระทบจากภาษีเหล็กที่จะถูกเก็บเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องกระจายความเสี่ยงด้วยการขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น อาเซียน, ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา เป็นต้น เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน จะต้องมีการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานการผลิต โดยการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานและลดต้นทุนการผลิต และมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า เช่น การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย รวมทั้งการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น รวมถึงจะต้องเร่งส่งเสริมการทำ R&D เพื่อเลือกใช้วัสดุทดแทนการพึ่งพาการใช้เหล็กในระยะข้างหน้า เช่น อะลูมิเนียมรีไซเคิล และคอมโพสิตไฟเบอร์ เป็นต้น แต่หัวใจสำคัญที่จะขาดไม่ได้ คือการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่จะต้องมีการลงทุนส่งเสริมการสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยภาครัฐจะต้องมีการสนับสนุนการให้งบประมาณ R&D ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ รวมไปถึงการส่งเสริมการลงทุนและให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการผลิตมากขึ้น เพื่อให้ไทยพัฒนาไปสู่การเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่สำคัญของอาเซียน

ความท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ากำลังเผชิญอาจไม่ใช่จุดจบ แต่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเร่งมือพัฒนาศักยภาพในการผลิตเพื่อนำไปสู่การเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แข็งแกร่งในระยะข้างหน้า

[1] อ้างอิงจาก “LIST OF STEEL HTS SUBJECT TO SECTION 232” ตามประกาศของรัฐบาลสหรัฐฯ

[2] หลักการคำนวณต้องเป็นไปตามที่ U.S. Customs and Border Protection กำหนด

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon