มิติหุ้น – ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทลงสู่ระดับ “BBB” จาก “BBB+” โดยยังคงแนวโน้มอันดับเครดิตที่ “Stable” หรือ “คงที่”
การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่อ่อนแอลงของบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการใช้จ่ายเงินลงทุนจำนวนมาก รวมถึงแรงกดดันจากการดำเนินงานในต่างประเทศ ทั้งนี้ สัดส่วนภาระหนี้สินของบริษัทยังคงสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA สูงกว่าเกณฑ์การปรับลดอันดับเครดิตของทริสเรทติ้งที่ 5 เท่า
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) รายใหญ่อันดับสองในประเทศไทย และชื่อเสียงทางธุรกิจของบริษัทในตลาดก๊าซ LPG หลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังคงถูกจำกัดโดยความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังถูกจำกัดจากการลงทุนที่อาจเกิดขึ้นในโครงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของบริษัท ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของธุรกิจใหม่และอาจทำให้สัดส่วนภาระหนี้สินทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ใช้จ่ายเงินลงทุนสูงกว่าที่คาดการณ์
สัดส่วนภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงจากการเข้าซื้อเรือบรรทุกก๊าซขนาดใหญ่พิเศษ (Very Large Gas Carrier — VLGC) สามลำและเรืออื่น ๆ ซึ่งมีมูลค่ารวมถึง 7.3 พันล้านบาท โดยเรือ VLGC สามลำนี้มีมูลค่ารวม 6.3 พันล้านบาท ซึ่งมีสองลำได้รับมอบแล้วในปี 2567 และลำที่สามได้รับมอบในเดือนพฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยทริสเรทติ้งไม่ได้คาดการณ์มาก่อนว่าจะมีการลงทุนในขนาดนี้
บริษัทได้ทำสัญญาเช่าเรือเป็นระยะเวลา 5 ปีสำหรับเรือสองในสามลำดังกล่าว โดยสัญญาดังกล่าวให้รายได้ประจำเดือนแบบคงที่ และคาดว่าจะสามารถสร้างผลกำไรที่สูงและมั่นคงตลอดระยะเวลาของสัญญา เรือ VLGC ลำแรกเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2567 ส่วนลำที่สองคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2568 นี้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีรายได้ตามที่คาดการณ์จากสัญญาเช่าเรือ VLGC ทั้งสองลำ ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้สินที่สูงของบริษัทจะยังคงทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ยังคงอยู่สูงกว่า 5 เท่า
เผชิญอุปสรรคจากตลาดต่างประเทศ
แนวโน้มยอดขายของบริษัทยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดัน โดยเห็นได้จากปริมาณการขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2567 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2568 โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ปริมาณการขายโดยรวมลดลง 10.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการลดลงของยอดขายในต่างประเทศ ซึ่งลดลงถึง 15.2% การลดลงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแออย่างต่อเนื่องในตลาดต่างประเทศที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน ในทางตรงกันข้าม ปริมาณยอดขายในประเทศไทยในช่วงไตรมาส 1 ปี 2568 ยังคงเติบโต โดยเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท ยังคงเผชิญกับความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานซึ่งเกิดจากการผลิต LPG ที่ล้นตลาดเนื่องจากความต้องการใช้ LPG ในภาคปิโตรเคมีลดลง ความไม่สมดุลดังกล่าวคาดว่าจะยังคงอยู่ต่อเนื่อง เนื่องจากผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงกดดันต่อการดำเนินงานของบริษัทในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ปริมาณยอดขายในส่วนของธุรกิจ Offshore ก็ลดลงปานกลาง จากความต้องการที่ลดลงของลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทในธุรกิจ Offshore
หากมองไปข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณยอดขายในต่างประเทศจะยังคงซบเซาตลอดระยะเวลาคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ความพยายามของ บริษัทในการแสวงหาโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ และการรับคำสั่งซื้อแบบ Spot Order อาจช่วยลดความเสี่ยงจากการหดตัวของปริมาณยอดขายที่รุนแรงไปอีกได้
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าปริมาณยอดขายโดยรวมจะลดลง 3% ในปี 2568 และจะอยู่ที่ประมาณ 3.1 ล้านตัน ก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็น 3.2-3.3 ล้านตันต่อปีในช่วงปี 2569-2570
ยังคงเป็นผู้ค้า LPG รายใหญ่อันดับสองในประเทศไทย
สำหรับตลาด LPG ในประเทศไทย บริษัทยังคงรักษาส่วนแบ่งการตลาดที่มั่นคงประมาณ 21%–22% ในปี 2567 โดยตำแหน่งที่แข็งแกร่งในประเทศ ได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก ตลอดจนการประหยัดจากขนาด และการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม สภาวะการแข่งขันยังคงทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม LPG สำหรับรถยนต์ และก๊าซหุงต้ม ซึ่งเกิดจากนโยบายตั้งราคาเชิงรุกอย่างมากจากคู่แข่ง
การดำเนินงาน LPG ภายในประเทศของบริษัทถือเป็นแหล่งรายได้ที่ค่อนข้างมั่นคง โดยได้รับประโยชน์จากการควบคุมในการกำหนดราคาโดยรัฐบาลและการได้รับเงินสนับสนุนบางส่วน ซึ่งส่งผลให้กำไรของผู้ประกอบการมีความมั่นคง ต่างจากการค้าระหว่างประเทศซึ่งมีรายได้ที่ผันผวนสูงกว่า เนื่องจากความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก
เครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง
เครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวางของบริษัทถือเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่สำคัญ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถานะเครดิตของบริษัท ในประเทศไทย บริษัทมีคลังเก็บ LPG จำนวน 9 แห่ง พร้อมด้วยเครือข่ายโรงบรรจุและสถานีบริการก๊าซที่ครอบคลุม อีกทั้งยังมีรถและเรือบรรทุก LPG ขนาดใหญ่จำนวนมาก ส่วนในตลาดต่างประเทศ บริษัทเป็นเจ้าของถ้ำเก็บก๊าซขนาดใหญ่สองแห่งซึ่งมีความจุรวม 300,000 ตันในประเทศจีน อีกทั้งยังมีกองเรือบรรทุก LPG ซึ่งรวมถึงเรือบรรทุกก๊าซ VLGC หลายลำใกล้ประเทศสิงคโปร์
คลังจัดเก็บลอยน้ำนี้ช่วยให้บริษัทสามารถปรับห่วงโซ่อุปทานทำให้บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงในภูมิภาคได้ และเพิ่มโอกาสในตลาดใหม่ ๆ ได้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีคลังเก็บ LPG ขนาดเล็กตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการดำเนินงานในระดับภูมิภาคและขยายขนาดธุรกิจของบริษัทอีกด้วย
สัดส่วนภาระหนี้สินทางการเงินจะยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2568 ก่อนที่จะเริ่มลดลง
ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA จะอยู่ในช่วงระหว่าง 3.9-4.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2568-2570 ทั้งนี้ คาดว่าการใช้จ่ายเงินลงทุนยังคงมีขนาดใหญ่ โดยจะมีจำนวนประมาณ 3.3 พันล้านบาทในปี 2568 และเฉลี่ย 1.7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2569-2570 ดังนั้น ภาระหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 6 เท่าในปี 2568 ก่อนที่จะลดลงเหลือประมาณ 5.3 เท่าในปี 2570 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 10%-13%
ประมาณการกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งยังไม่ได้รวมการลงทุนในโครงการนำเข้าก๊าซ LNG ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งหากการลงทุนนี้ได้เริ่มดำเนินการก็อาจจะก่อให้เกิดแรงกดดันต่ออันดับเครดิตได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและระยะเวลาที่ใช้ในการลงทุน
สภาพคล่องอยู่ในระดับเพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทยังคงเพียงพอสำหรับการชำระหนี้สินในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ เดือนมีนาคม 2568 แหล่งสภาพคล่องของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดประมาณ 4.3 พันล้านบาท และเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 2.5 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในด้านหนี้สิน บริษัทมีภาระชำระคืนเงินกู้ระยะยาวและสัญญาเช่ารวม 1.1 พันล้านบาท ภาระหนี้หุ้นกู้ 4 พันล้านบาท และการจ่ายเงินปันผล 0.37 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ
ในขณะเดียวกัน การใช้จ่ายเงินลงทุนที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการซื้อเรือ VLGC คาดว่าบริษัทน่าจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเงินกู้ธนาคารเป็นหลัก นอกจากนี้ บริษัทยังคงมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้มากกว่า 1.0 หมื่นล้านบาท ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารหนี้ระยะสั้นและความต้องการสภาพคล่องได้เป็นอย่างดี
โครงสร้างหนี้
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 บริษัทมีภาระหนี้ที่ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่าอยู่ที่จำนวน 2.42 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทมีหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนจำนวนประมาณ 7.9 พันล้านบาท ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้ชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัทจึงอยู่ที่ระดับประมาณ 32.5%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- ปริมาณการขาย LPG รวมทั้งสิ้นจะลดลงอยู่ที่ 3.1 ล้านตันในปี 2568 และจะเติบโตไปสู่ 3.2-3.3 ล้านตันต่อปีในช่วงระหว่างปี 2569-2570
- รายได้จากการดำเนินงานจะอยู่ระหว่าง 7.3-7.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในระหว่างปี 2568-2570
- EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับประมาณ 5.4%-6.0%
- เงินลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่จำนวน 3.3 พันล้านบาทในปี 2568 และ 1.7 พันล้านบาทต่อปี ในระหว่างปี 2569-2570
- อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 40%-50% ของกำไรสุทธิ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่า บริษัทจะสามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในตลาด LPG ในประเทศไทย โดยจะยังคงเป็นแหล่งที่สร้างผลกำไรที่มั่นคงให้กับบริษัท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาปริมาณการขาย LPG โดยรวมและสร้าง EBITDA ที่สอดคล้องกับที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถลดอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ให้ต่ำกว่า 5 เท่าได้อย่างต่อเนื่อง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดจากความสามารถในการรับมือกับความท้าทายในตลาดต่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของ EBITDA จากทั้งส่วนธุรกิจ LPG และ/หรือธุรกิจ Non-LPG รวมไปถึงการตัดสินใจลงทุนที่มีความรอบคอบมากขึ้น
ในทางกลับกัน แรงกดดันต่ออันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นหากสถานะทางการเงินของบริษัทด้อยลง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นเกินกว่า 7 เท่า สถานการณ์นี้อาจเกิดจากการที่บริษัทไม่สามารถรักษาปริมาณการขาย LPG ไว้ได้ หรือมีการลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้เงินกู้เป็นหลัก
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
– เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 26 ธันวาคม 2567
– เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
– อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon