มิติหุ้น – บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ผู้นำระดับโลกด้านเคมีภัณฑ์ที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จัดโครงการ “Hack the Island” เวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้ปลดปล่อยพลังความคิด พลิกขยะให้เป็นนวัตกรรมเพื่ออนาคต ภายใต้หัวข้อการจัดการปัญหาขยะพลาสติกบนเกาะและในทะเลอย่างยั่งยืน โดย อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้เลือก “เกาะเต่า” จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เป็นพื้นที่นำร่องของโครงการ ด้วยความร่วมมืออันแข็งแกร่งกับพันธมิตรที่มีอยู่แล้วในแคมเปญจัดเก็บขวด PET บนเกาะ เพื่อต่อยอดสู่โครงการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชน
Hack the Island เปิดรับสมัครในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีเยาวชนสมัครเข้าร่วมกว่า 130 คน รวม 53 ทีมจากทั่วประเทศ โดยมีการคัดเลือก 15 ทีมเข้าสู่ค่ายกิจกรรม Bootcamp เพื่อเรียนรู้เรื่องการรีไซเคิล PET, การคิดเชิงระบบ และภาวะผู้นำ ผ่านเวิร์กชอปเชิงปฏิบัติกับผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จากสายงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เครือข่ายเกาะยั่งยืนประเทศไทย และ OGGA Idea เพื่อเปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้กับเยาวชนพร้อมชิงทุนพัฒนาต้นแบบ (prototype) เพื่อทดลองใช้จริงในชุมชน โดยทีมที่ชนะเลิศจะได้รับโอกาสนำเสนอไอเดียผลงานบนเวทีสัมนาวิชาการเกาะแห่งความยั่งยืน Partway to Koh Tao – So Green เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี
หลังจากกิจกรรมอันเข้มข้นตลอดโครงการ ทีม Aqua Shield จากโรงเรียนสาธิตนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งประกอบด้วย นายเตวิชชา วงศ์เดิม (จีโน่), นายพลกฤต ธะนะภาชน์ (กอล์ฟ) และนายดาลัล ยะฝา (ดาลัล) ด้วยแนวคิดที่มีความโดดเด่น “Eco-Island” แอปพลิเคชันอัจฉริยะที่ออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้รับรางวัลชนะเลิศ
ซึ่งจากการค้นคว้าข้อมูลของทีมพบว่า เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นทุกปีและทำให้ปัญหาขยะบนเกาะเต่ายากต่อการจัดการ ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ แรงงาน และระบบจัดการที่ยังไม่ทั่วถึง ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้คิดค้น แอปพลิเคชัน Eco-Island ที่จะแสดงแผนที่อัจฉริยะที่แสดงตำแหน่งถังรีไซเคิลใกล้ตัว พร้อมระบบสะสม eco-points ที่ให้รางวัลกับผู้ใช้งานเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมรักษ์โลก เช่น พกขวดน้ำส่วนตัว แยกขยะ หรือนำขยะมาแลกรับคูปอง ผู้ใช้งานสามารถนำคะแนนไปแลกส่วนลดจากร้านค้า โรงแรม หรือสถานที่ท่องเที่ยวบนเกาะเต่า การแจ้งเหตุฉุกเฉิน และยังมีฟีเจอร์ส่งเสริมพฤติกรรมระยะยาว เช่น leaderboard, การจัดอันดับผู้ใช้ และกิจกรรม gamification ที่ทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องสนุก
ทั้งนี้หน่วยงานท้องถิ่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในพื้นที่เกาะเต่า อาทิ ภาครัฐท้องถิ่น ชุมชน โรงเรียน ผู้ประกอบการ สมาคมธุรกิจ รวมถึงนักท่องเที่ยว สามารถนำแอปพลิเคชัน Eco-Island ไปใช้เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกันซึ่งเป็นการสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่ยั่งยืนอย่างครบวงจร
“สิ่งที่เราภูมิใจที่สุดไม่ใช่แค่การชนะ แต่คือโอกาสที่ได้เห็นไอเดียของเรานำไปใช้จริงบนเกาะเต่า เราอยากให้การท่องเที่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันได้ และ Eco-Island จะเป็นก้าวแรกของเราในการเปลี่ยนแปลงนั้น”— น้องจีโน่ ตัวแทนทีม Aqua Shield ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ กล่าว
สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ‘ทีมกันเอง’ โดย นางสาวกัญญ์สินีณัฐ องค์ศิริพร (เนเน่) และ นางสาวกัญชญาลักษณ์ องค์ศิริพร (เอญ่า) จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 กับโครงการปะการังเทียมอัจฉริยะจากขยะรีไซเคิลเพื่อฟื้นฟูทะเล “พวกเราตื่นเต้นมากที่ได้เข้ารอบสุดท้าย ได้เห็นไอเดียของทีมอื่น ได้แรงบันดาลใจ ได้คิดต่อยอด ทุกช่วงเวลาที่อยู่ในโครงการนี้มันทำให้เราเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นได้จากมือเรา” น้องเอญ่า กล่าว
และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ‘ทีม PolyFunder’ โดย นางสาวกานต์พิชชา ตั้งสุรกิจ (เคท) นายปัณณวิชญ์ ภัทรนิติพิบูลย์ (ปัณ) และนายศลัญญพงศ์ พิทชยจิตติพงษ์ (ฟรอส) จากโรงเรียน The Newton Sixth Form กับเกมรีไซเคิลที่เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นเหรียญสะสมรางวัลเพื่อนำไปแลกสิทธิประโยชน์ต่างๆที่เกาะเต่า โดยน้องฟรอส เล่าว่า “Hack the Island เป็นมากกว่าการประกวด มันคือพื้นที่ให้เราได้ลองผิดลองถูกจริงๆ กับโจทย์ที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างปัญหาขยะ”
ทุกทีมที่นำเสนอล้วนสะท้อนถึงศักยภาพของเยาวชนไทยที่พร้อมเป็นผู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลง ที่พร้อมขับเคลื่อนสังคมอย่างยั่งยืน โดยทีม Aqua Shield ได้รับโอกาสพิเศษในการนำเสนอผลงานจริงต่อผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน บนเวทีสัมนาวิชาการเกาะแห่งความยั่งยืน Partway to Koh Tao – So Green เมื่อวันที่ 22-23 มิถุนายน 2568 ซึ่งประกอบด้วยนายกเทศมนตรีเกาะเต่า นายกสมาคมการท่องเที่ยวเกาะเต่า ผู้นำชุมชน และกลุ่มสมาคมผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยได้รับเสียงตอบรับที่ดีและเปิดประตูสู่การผลักดันแนวคิดการทดลองใช้งานจริงในอนาคต
นางสาวนวีนสุดา กระบวนรัตน์ รองประธานร่วมฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “อินโดรามา เวนเจอร์ส เชื่อในพลังของเยาวชน โครงการ Hack the Island ไม่ได้มองแค่ ‘ไอเดีย’ แต่ให้ความสำคัญกับการ ‘ลงมือทำ’ เราอยากให้เด็กๆ ได้ออกจากห้องเรียน มาสัมผัสปัญหาจริง ฝึกแก้โจทย์ที่ซับซ้อนในโลกจริง และเติบโตไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อินโดรามา เวนเจอร์ส ดำเนินโครงการด้านความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการพัฒนาห่วงโซ่การรีไซเคิลระดับโลก การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในหลายประเทศ และการร่วมมือกับภาคการศึกษาในการสร้างองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายระยะยาวในการลดการปล่อยคาร์บอนและสนับสนุนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความรับผิดชอบทางสังคม ปี 2573 ที่ตั้งเป้าสร้างความตระหนักรู้เรื่องการรีไซเคิลให้กับประชากรมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นอย่างน้อย 100,000 คน และสนับสนุนให้เกิดการรีไซเคิลพลาสติก PET อย่างน้อย 120 ตัน ผ่านกระบวนการจัดการและคัดแยกขยะอย่างเหมาะสม
โครงการ Hack the Island จึงเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของความมุ่งมั่นดังกล่าว ที่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ลงมือเปลี่ยนแปลงโลกด้วยความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ โดยโครงการ Hack the Island เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อน “นวัตกรรมเพื่อสังคม” เพื่อเปลี่ยน “ขยะ” ให้กลายเป็น “โอกาส” ในระดับชุมชน และอาจขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆในระดับประเทศ
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon