มิติหุ้น – ย้อนหลังไปแต่ปี 2561 ที่ทรูเริ่มก่อตั้ง True Innovation Center จนถึงปัจจุบัน มีพนักงานทรูมากถึง 1,573 คน ที่ลุกขึ้นมาเป็น “นวัตกร” คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมจากเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาที่ลูกค้าพบเจอ และยกระดับประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าทรู จนเกิดผลงานที่ได้รับการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรนวัตกรรมแล้ว 112 รายการ
ทั้งหมดนี้สะท้อนความเชื่อมั่นของทรูว่า “ทุกคนสามารถเป็นนวัตกรได้” และยังคงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ True Innovation Awards เปิดโอกาสให้พนักงานทุกสายงานได้นำเสนอไอเดียใหม่ๆ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้า องค์กร และสังคม เพราะสำหรับทรูแล้ว นวัตกรรมที่แท้จริง ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีล้ำสมัย แต่คือ “ความใส่ใจ” ที่ฝังอยู่ใน DNA ของคนทรูทุกคน
หนึ่งในนวัตกรทรูคือ ธเนศ วิเชียรปราการ Senior Leader, Technical Project Delivery จากทรูดิจิทัล กรุ๊ป ผู้เป็น Product Owner เบื้องหลัง TrueID TV Gen3 กล่องทีวี AI อัจฉริยะที่ไม่เพียงแค่ดูสตรีมมิ่ง แต่ยังสามารถเล่นเกม ออกกำลังกาย และร้องคาราโอเกะได้ครบจบในกล่องเดียว
แม้เขาจะไม่ได้เริ่มต้นจากสายงานเทคโนโลยีโดยตรง แต่ด้วยการเปลี่ยนมุมคิด และความเชื่อในการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง ทำให้เขาก้าวเป็นนวัตกรผู้ผลักดันเทคโนโลยีของทรูเข้าใกล้ชีวิตผู้คนมากยิ่งขึ้น
จากแวดวงโทรคมนาคม สู่โลกใหม่ของเทคโนโลยีเพื่อผู้ใช้
ก่อนหน้าจะก้าวสู่งานด้านเทคโนโลยี ธเนศเป็นวิศวกรที่ทำงานในสายโทรคมนาคมมากว่า 25 ปี โดยมีประสบการณ์ด้านเน็ตเวิร์กและบริการเสริมของโมบายล์ จนเมื่อ 4 ปีก่อนเขาตัดสินใจย้ายสู่สายงาน Product Management ที่ทรู ดิจิทัล โดยมีความมุ่งหมายที่จะออกจากความคุ้นเคยเดิมๆ
การเปลี่ยนสายงานครั้งนี้ทำให้เขาได้เปลี่ยน แนวคิดในการทำงาน จากงานดูแลระบบหลังบ้าน มาเป็นการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งานจริง โดยเริ่มต้นงานในฝ่าย Connected Device Products และดูแลโปรดักส์ TrueID TV Gen2
“ทีวีในบ้านมีไว้เพียงแค่ ‘ดู’ คอนเทนต์ได้เท่านั้นจริงๆ หรือ” คือ คำถามตั้งต้นที่ธเนศคิด เมื่อสังเกตพฤติกรรมผู้ใช้งานกล่องทีวีทั่วไป ที่ในห้องนั่งเล่นที่บ้านมีทั้งทีวี มือถือ สมาร์ตสปีคเกอร์ เครื่องเล่นเกม และแอปออกกำลังกายที่ต่างใช้งานแยกส่วนและแยกอุปกรณ์กัน สิ่งที่เขาเห็นคือ โอกาสและศักยภาพ บนหน้าจอทีวี ซึ่งเป็น Big Screen กลางบ้าน ที่ยังไม่มีใครใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“เราจึงตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนกล่อง TrueID TV จากอุปกรณ์รับชมคอนเทนต์ผ่านจอทีวี ให้กลายเป็น ‘ศูนย์กลางของชีวิตอัจฉริยะ’ ที่รวมทุกกิจกรรมของทุกคนในครอบครัวไว้ที่เดียว” ธเนศกล่าว
งานใหญ่ที่ใช้ทีม Cross-functional ที่มีความเชี่ยวชาญ
จุดเด่นที่ทำให้ กล่อง TrueID TV Gen3 แตกต่างจากกล่องอื่นในตลาด คือ การติดตั้ง AI Chipset ตัวใหม่เพื่อเพิ่มความฉลาด พร้อมติดตั้งกล้องเว็บแคม ไมโครโฟน และลำโพงแบบ Buit-in เพื่อเพิ่มฟังก์ชัน Motion Detection ในการออกกำลังกายและเล่นเกม Interactive ได้จากกล่องทีวี พร้อมกับการร้องเพลงคาราโอเกะ และรองรับ Google Assistant เบื้องหลังฟีเจอร์สุดล้ำเหล่านี้ คือ ทีม Cross-functional ที่มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจเป้าหมายเดียวกัน
ในฐานะที่เป็น Product Owner ธเนศรับผิดชอบในการกำหนดทิศทางผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบ วาง Roadmap ของฟีเจอร์ และทำให้ให้ทุกทีมเห็นภาพเดียวกัน โดยมี 3 ทีมงานหลักที่ร่วมกันผลักดันนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง คือ
- ทีมวิศวกรซอฟต์แวร์และเฟิร์มแวร์ ปรับแต่งระบบปฏิบัติการ Android TV14 พร้อมพัฒนาไดร์ฟเวอร์สำหรับฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ สร้างรากฐานให้นักพัฒนาแอปพลิเคชันเข้ามาต่อยอดได้
- ทีมพาร์ตเนอร์แอปพลิเคชันและคอนเทนต์ จัดหาพาร์ตเนอร์ภายนอกที่เข้ามาพัฒนาแอปใหม่ๆ อย่าง Fitness และเกมที่ใช้ Motion Detection
- ทีมประกันคุณภาพ ตรวจสอบทุกมิติ ตั้งแต่ความเสถียรของฮาร์ดแวร์ไปจนถึงประสบการณ์การใช้งานจริง
“ความท้าทายคือ การประสานงานกับหลากหลายทีม ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ และพาร์ตเนอร์นอกองค์กร เราใช้ระบบการทำงานแบบ Agile เป็นหลัก แบ่งงานเป็น Sprint โดยมีทำงานร่วมกันทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง” ธเนศเล่า
Human Technology ที่เชื่อมโยงผู้คนให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
หลังจากการทำงานกว่า 6 เดือน กล่อง TrueID TV Gen3 ก็ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง และเปิดตัวสู่ตลาดในช่วงต้นปี 2568 สำหรับธเนศแล้ว ความสำเร็จของโปรดักส์นี้ไม่ใช่แค่การทำให้เทคโนโลยีทำงานได้ดี แต่คือการเห็นเทคโนโลยีเชื่อมโยงให้ผู้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น
หลังจากที่โปรดักส์ได้ออกให้ใช้งานจริง เขาและทีมเข้าไปดู feedback จริงจากโลกโซเชียล ทั้งรีวิว คอมเมนต์ หรือการใช้งานจริงในบ้านของผู้คน โดยเก็บข้อมูล ฟังเสียงของผู้ใช้ และนำกลับมาใช้พัฒนาในรุ่นถัดไป
“สิ่งที่ดีใจคือ เราตั้งใจให้กล่อง TrueID TV Gen3 เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในบ้าน และผลลัพธ์ก็เป็นแบบนั้น เราได้เห็นผู้สูงอายุในบ้านเล่นเกมกับหลานเล็กผ่านหน้าจอทีวี ใช้ท่าทางเคลื่อนไหว แทนจอยสติ๊ก และกลายเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองรุ่นได้สนุกด้วยกัน ทำให้เทคโนโลยีมีความหมายมากกว่าความสะดวกสบาย” เขากล่าว
นอกจากนี้ ในแง่ของเทคโนโลยี กล่อง TrueID TV Gen3 ออกแบบให้เป็นศูนย์กลางในการรวม Ecosystem ของทรูเข้าด้วยกัน โดยรองรับการเชื่อมต่อกับบริการต่างๆ และสามารถต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ของทรูได้ในอนาคต ช่วยวางรากฐานให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงฟีเจอร์และประสบการณ์ใช้งาน รวมถึงการสร้างจุดเด่นในตลาด
คิดแบบนวัตกร เริ่มจากจุดเล็กๆ
“นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเริ่มจากสิ่งยิ่งใหญ่ หรือสมบูรณ์แบบที่สุด แต่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ที่เรียกว่า ‘ความใส่ใจ’ แล้วค่อยๆ ต่อยอด สะสมไอเดีย สะสมพลังงาน ให้ไปถึงจุดหมายที่ใหญ่ขึ้นได้” ธเนศกล่าวถึงเคล็ดลับในการสร้างสรรค์งาน
สำหรับเขา การเปลี่ยนสายจากวิศวกรโทรคมนาคม สู่บทบาท Product Owner ในสายเทคโนโลยีที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้ใช้ คือการค้นพบตัวเองอีกครั้ง
“จากเดิมที่เคยทำงานไปตามกระบวนการ พอได้เปลี่ยนมุมมาเป็นคนที่ ‘คิด’และสามารถ ‘สร้าง’ อะไรใหม่ๆ และที่สำคัญคือสิ่งที่สร้างขึ้นมานั้นถูกใจลูกค้า ก็ทำให้รู้สึกสนุก และภูมิใจมากครับ” ธเนศทิ้งท้าย
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon