กองทุนน้ำมันฯ พิสูจน์บทบาท “รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน” สรุป “สงคราม 12 วัน” กับภารกิจดูแลค่าครองชีพประชาชน

16

มิติหุ้น – (วันที่ 14 กรกฎาคม 2568) สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยถึงบทบาทสำคัญของ “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศในช่วงสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 13 -24 มิถุนายน 2568 หรือที่เรียกกันว่า “สงคราม 12 วัน” โดยช่วงเวลาดังกล่าว คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้เร่งดำเนินการตามแผนวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ลดการจัดเก็บเงินจนถึงชดเชยอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทน้ำมันดีเซล

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันดีเซล ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับภาคขนส่งและค่าครองชีพของประชาชน กองทุนน้ำมันฯ ได้เข้าไปบริหารจัดการผ่านกลไกอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกในประเทศ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนมากจนเกินไป โดย กบน. ได้มีมติเร่งด่วน จำนวน 5 ครั้งภายในเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์เพื่อลดผลกระทบ โดยเริ่มจากลดอัตราเงินจัดเก็บของกลุ่มน้ำมันดีเซลจากเดิมจัดเก็บอยู่ที่ 2.40 บาทต่อลิตร เป็นการต้องชดเชยอยู่ที่ 0.65 บาทต่อ เพื่อคงราคาขายปลีกไม่ให้เกิน 32 บาทต่อลิตร ทำให้สามารถตรึงราคาหน้าปั๊มน้ำมันไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนในช่วงเวลาสำคัญ

แม้การรักษาเสถียรภาพ และตรึงราคาน้ำมันในช่วง 12 วันที่ผ่านมา จะส่งผลให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯประเภทน้ำมันดีเซลติดลบ คือมีรายจ่ายสูงสุดประมาณวันละ 40.75 ล้านบาทต่อวัน แต่เมื่อสถานการณ์สงครามอิสราเอล-อิหร่าน เริ่มคลี่คลายจากการไกล่เกลี่ยของสหรัฐฯ ราคาน้ำมันโลกก็เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้กองทุนน้ำมันฯ กลับมาจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ได้อีกครั้ง ปัจจุบันกลุ่มน้ำมันดีเซลมีรายรับประมาณวันละ 57.41 ล้านบาท และกลุ่มน้ำมันเบนซิน มีรายรับประมาณวันละ 96.17 ล้านบาท (รายละเอียดอยู่ในตาราง) ขณะที่ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2568 กองทุนน้ำมันฯ ติดลบอยู่ที่ 31,588 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันบวกอยู่ที่ 12,406 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบอยู่ที่ 43,994 ล้านบาท

ชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (บาท) รายรับต่อวัน (ล้านบาท)
น้ำมันเบนซิน 9.60 3.46
น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 3.00 81.54
น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 3.00 1.68
น้ำมันแก๊สโซฮอล อี20 1.90 9.29
น้ำมันแก๊สโซฮอล อี85 3.60 0.20
น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา 0.90 56.28
น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา พรีเมี่ยม 2.40 1.13

หมายเหตุ : อัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2568

: ประมาณการปริมาณการใช้น้ำมัน 1-3 กรกฎาคม 2568

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน กับกรณีสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน จะพบความแตกต่างในเชิงผลกระทบ และความยืดเยื้ออย่างชัดเจน ซึ่งกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ช่วยเพิ่มวิธีการบริหาร และความรอบคอบในการกำหนดมาตรการบริหารกองทุนน้ำมันฯ ในปัจจุบัน และอนาคต

ย้อนรอย 2 เหตุการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์

  สงครามอิสราเอล-อิหร่าน สงครามรัสเซีย-ยูเครน
ระยะเวลา 13-24 มิ.ย.2568 เดือนกุมภาพันธ์ 2565 – ปัจจุบัน
ราคาน้ำมันตลาดโลกก่อนเกิดความไม่สงบ ดูไบ 68.59 เหรียญฯ /บาร์เรล

เบนซิน 81.75 เหรียญฯ /บาร์เรล

ดีเซล 84.64 เหรียญฯ/บาร์เรล

ดูไบ 93.61 เหรียญฯ /บาร์เรล

เบนซิน 112.64 เหรียญฯ /บาร์เรล

ดีเซล 110.57 เหรียญฯ/บาร์เรล

ราคาน้ำมันตลาดโลกสูงสุดช่วงความไม่สงบ ดูไบ 76.85 เหรียญฯ /บาร์เรล

เบนซิน 89.81 เหรียญฯ /บาร์เรล

ดีเซล 97.82 เหรียญฯ/บาร์เรล

ดูไบ 118.95 เหรียญฯ /บาร์เรล

เบนซิน 160.86 เหรียญฯ /บาร์เรล

ดีเซล 177.05 เหรียญฯ/บาร์เรล

อัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยสูงสุด (ดีเซล) 0.65 บาท/ลิตร 14.01 บาท/ลิตร
สภาพคล่องรายจ่ายน้ำมันดีเซลสูงสุดต่อวัน 40.75 ล้านบาท/วัน 689.70 ล้านบาท/วัน
ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบ 35,408  ล้านบาท

แยกเป็นน้ำมัน +8,995 ล้านบาท

LPG -44,403 ล้านบาท

ติดลบ 132,671 ล้านบาท

แยกเป็นน้ำมัน -88,788 ล้านบาท

LPG -43,883 ล้านบาท

ปัจจุบันกระทรวงพลังงานยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์ในทะเลแดง และภูมิภาคอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบด้านราคาพลังงาน กระทรวงพลังงานโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาดูแล ได้แก่ คณะกรรมการเตรียมการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ (LNG) ซึ่งมี    นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นประธาน และมีตน (นายพรชัย จิรกุลไพศาล) ร่วมเป็นกรรมการในชุดนี้ โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะทำหน้าที่เตรียมการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อรองรับสถานการณ์พลังงานจากวิกฤตในตะวันออกกลาง และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อย่างรอบด้าน

นายพรชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า “บทเรียนจากวิกฤตน้ำมันช่วงที่ผ่านมา สะท้อนถึงความจำเป็นของกลไกกองทุนน้ำมันฯ ที่มีความยืดหยุ่น ทันต่อสถานการณ์ และมุ่งมั่นดูแลประชาชนทุกระดับอย่างเท่าเทียม สะท้อนการทำหน้าที่และบทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาพลังงานให้กับประชาชนในช่วงวิกฤตการณ์ด้านราคาพลังงานเสมอมา ด้วยหลักการเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 พร้อมขอขอบคุณผู้ค้าน้ำมันที่ให้ความร่วมมือในการสนับสนุนภารกิจสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว”

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon