CGSI : กลุ่มปิโตรเคมีของไทย กำลังการผลิตที่ปิดถาวร ยังไม่พอหักลบกับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

26

มิติหุ้น – ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า  Reuters รายงานว่า Dow กำลังจะปิด ethylene cracker ซึ่งมีกำลังการผลิต 560 พันตัน/ปีใน Bohlen ประเทศเยอรมนีอย่างถาวรภายในไตรมาส 4/70 ซึ่งเมื่อรวมกับ cracker ที่ปิดกิจการในภูมิภาคอื่น ประเมินว่าน่าจะมี cracker จำนวน 6 แห่ง กำลังการผลิตรวม 2.94 ล้านตัน/ปี ที่จะปิดกิจการถาวรระหว่างปี 68-70

อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตที่หายไปจากการปิดกิจการถาวรดังกล่าว ยังไม่พอหักลบกับแผนขยายกำลังการผลิต ที่มากถึง 17.6 ล้านตัน/ปีในปี 68-70 เพราะเมื่อรวมกับ cracker ที่จะปิดถาวร ประมาณการว่าจะทั่วโลกจะมี อุปทานเอทิลีนเพิ่มขึ้นสุทธิ 9-13 ล้านตัน/ปีในปี 69-71 เทียบกับอุปสงค์ที่คาดจะเพิ่มขึ้นเพียง 6.8-7.3 ล้านตัน/ปี

ทั้งนี้ cracker ส่วนใหญ่ที่ใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพและจำเป็นต้องปิดกิจการ มีขนาดเล็ก โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 400-580 พันตัน/ปี ฝ่ายวิเคราะห์ฯจึงคาดว่าจะมี cracker 5-13 แห่ง (กำลังการผลิตเฉลี่ย 500 พันตัน/ปี) ที่ต้องปิดกิจการอย่างถาวร เพื่อให้อุปสงค์-อุปทานของเอทิลีนกลับมาสมดุลในปี 69-71

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ระบุว่า รายงานของ CMA ระบุว่า สหรัฐได้ยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกอีเทนไปประเทศจีนเมื่อวันที่ 2 ก.ค.68 ทำให้ผู้ส่งออกอีเทนของสหรัฐสามารถกลับมาซื้อขายอีเทนกับจีนโดยไม่ต้องรอใบอนุญาตส่งออกฉบับใหม่ ขณะที่ CMA คาดว่าโรงงานผลิตเอทิลีนของจีนจะมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 76% ในเดือนก.ค. 68  เป็น 79% ในเดือนส.ค. 68 หลังปริมาณวัตถุดิบอีเทนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ฝ่ายวิเคราะห์ฯมองว่า อัตราการผลิตเอทิลีนในอาเซียนน่าจะทรงตัวในระดับต่ำกว่า 71% ในเดือนส.ค. 68 เพราะมีต้นทุนวัตถุดิบสูงกว่า รวมทั้งการปิดซ่อมบำรุงตามกำหนด

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ระบุว่า ตามข้อมูลของ CMA ผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ได้แก่ PET (polyethylene terephthalate), PE (polyethylene), PP (polypropylene) และ PVC (polyvinyl chloride) ได้รับการยกเว้นจากภาษีตอบโต้ของสหรัฐ ดังนั้นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ของไทย จึงน่าจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาษีตอบโต้สินค้าไทย 36% หากรัฐบาลไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐ

ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) แสดงให้เห็นว่าสหรัฐเป็นตลาดหลักของ PET ส่งออกหรือคิดเป็นประมาณ 22.7% ของยอดส่งออกรวมในปี 67 ส่วนไทยมีการส่งออก PE/PP และ PVC ไปสหรัฐเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ของไทย อาจเห็นการไหลทะลักเข้ามาของ cargo จากจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดในประเทศ เนื่องจาก downstream converter ของจีนเปลี่ยนเส้นทางการส่งออกจากสหรัฐไปยังประเทศอื่น

นอกจากนี้ ข้อมูลของ PTIT ยังชี้ว่า ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ของจีนมีการส่งออกสินค้ามาไทยเพิ่มขึ้น 12-103% ระหว่างปี 63 และปี 67 ดังนั้นฝ่ายวิเคราะห์ฯจึงยังแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุน (Underweight) ในกลุ่มปิโตรเคมีของไทย เพราะเล็งเห็นปัจจัยลบต่ออุปทานมากมาย และมองว่าความต้องการพลาสติกที่ต่ำกว่าคาดจะเป็นปัจจัยลบ ส่วน upside risk จะมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำกว่าคาดและราคาสินค้าที่สูงกว่าคาด

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon