TRIS Rating S&P Global Ratings และทริสเรทติ้งร่วมจัดสัมมนา “Thailand Credit Spotlight 2025” เพื่อวิเคราะห์กระแสการค้าโลกและทิศทางเศรษฐกิจ

27

Mitihoon – S&P Global Ratings และ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้ร่วมกันจัดสัมมนาในหัวข้อ “Thailand Credit Spotlight 2025: Navigating Global Trade Shifts” ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 เพื่อเป็นเวทีให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุนไทยได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ แนวโน้มทางธุรกิจ อันดับเครดิตประเทศ ตลอดจนความท้าทายและโอกาสของภาคธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงด้านการค้าและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกในปัจจุบัน

โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนหน่วยงานที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งและ/หรือ S&P Global Ratings รวมทั้งนักลงทุนสถาบัน ผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ ผู้เกี่ยวข้องในตลาดตราสารหนี้ไทย และสื่อมวลชน

ทริสเรทติ้งและ S&P Global Ratings ได้รับเกียรติจากคุณสุรินทร สุนทรสนาน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มาเป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์หลัก นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายกลุ่มในหัวข้อ “Challenges and Opportunities from the Shift in Global Trade and Supply Chain” โดย Mr. Yeap Swee Chuan, President and CEO บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) (AH) คุณไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ ประธานเจ้าหน้ากลยุทธ์กลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA) และ ดร.วิรัช ฉัตรดรงค์ กรรมการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ด้วย

ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารจาก S&P Global Rating ทริสเรทติ้ง และ Credit Guarantee & Investment Facility (CGIF) ยังมีส่วนร่วมในการอภิปรายด้วยเช่นกัน โดยมุมมองของผู้ร่วมอภิปรายหลักบางส่วนพอสรุปได้ดังนี้

Mr. Louis Kuijs, APAC Chief Economist, S&P Global Ratings  “แนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย – การรับมือกับความท้าทายจากภายนอก” การเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ในขณะที่ภายในประเทศสหรัฐฯ เองนั้น การเติบโตที่ชะลอตัว ผนวกกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้นโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีความยุ่งยากมากยิ่งขึ้น ส่วนในต่างประเทศ มาตรการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ กำลังส่งผลกระทบในทางลบต่อการค้าระหว่างประเทศซึ่งเพิ่มความไม่แน่นอนและกระตุ้นให้เกิดการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานมากยิ่งขึ้น ความคาดหวังเกี่ยวกับอัตราภาษีที่สูงและไม่แน่นอนของสหรัฐฯ ยังคงกดดันเศรษฐกิจของจีนและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งในหลาย ๆ ประเทศจะช่วยบรรเทาการชะลอตัวในปี 2568 และปี 2569 ได้ในภาพรวมแต่จะส่งผลน้อยกว่าในประเทศที่พึ่งพาการส่งออก ส่วนในระยะปานกลางนั้น ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะยังคงมีแนวโน้มเติบโตเร็วเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม ประเทศในภูมิภาคนี้จำเป็นจะต้องหาแนวทางรับมือกับสถานการณ์การแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนให้ดี

Mr. Kim Eng Tan, Managing Director, Sovereign and International Public Finance Ratings, S&P Global Ratings “แนวโน้มอันดับเครดิตประเทศในภาวะแวดล้อมที่ไม่แน่นอน” การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ระหว่างประเทศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงอันดับเครดิตประเทศ สภาพโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ถ่วงน้ำหนักตัวชี้วัดด้านเครดิตที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายก็สามารถลดแรงกดดันเหล่านี้ลงได้หากภาครัฐสามารถดำเนินการได้อย่างทันสถานการณ์

Mr. Ivan Tan, Director, Financial Institutions Ratings, S&P Global Ratings “แนวโน้มเครดิตที่สำคัญ ๆ ของภาคธนาคารของไทย” ภาคธนาคารพาณิชย์ของไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าและความไม่แน่นอนจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยปัจจัยท้าทายเชิงโครงสร้างบางประการประกอบไปด้วยภาระหนี้ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงจุดอ่อนที่มีอยู่เดิมในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) การหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าจากจีนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม SME รัฐบาลไทยกำลังดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูสถานะทางการเงินของครัวเรือนและเสริมความสามารถในการแข่งขันของ SME อย่างไรก็ตาม มาตรการเชิงนโยบายเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการปรับใช้และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง S&P Global Ratings เชื่อว่าธนาคารไทยมีความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ทั้งนี้ ธนาคารของไทยส่วนใหญ่มีทุนสำรองด้านเครดิตในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) สูงเกินกว่า 20% และมีอัตราความครอบคลุมของเงินทุนสำรองอยู่ที่ประมาณ 170% ในขณะที่ผลกำไรของธนาคารก็มีเพียงพอที่จะช่วยสนับสนุนเงินทุนสำรองเหล่านี้อีกด้วย

Ms. Pauline Tang, Associate Director, Corporate Ratings, S&P Global Ratings “ความตึงเครียดทางการค้าที่คงอยู่อาจเป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมการลดภาระหนี้และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ และความตึงเครียดทางการค้าในภูมิภาคจะส่งผลแตกต่างกันไปอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละประเทศ โดยบริษัทในเวียดนามและจีนมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุดจากการขึ้นภาษีและความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่บริษัทในไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียมีการพึ่งพาตลาดส่งออกสหรัฐฯ น้อยกว่า แต่ภาคสินค้าโภคภัณฑ์และการผลิตของประเทศเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกในระดับสูง ซึ่งทำให้ประเทศดังกล่าวเผชิญกับอุปสงค์ที่อ่อนแอลงทั้งจากลูกค้าในภูมิภาคและลูกค้าต่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากการทุ่มตลาดของผู้ผลิตจีน ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ เหล็ก และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ SME ที่มีขนาดเล็กกว่าและมีการดำเนินงานที่กระจุกตัวมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การลดภาระหนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไปและภาวะตลาดทุนที่เอื้อต่อการระดมทุนก็ช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ทั้งนี้ ระดับภาระหนี้โดยเฉลี่ยของผู้ประกอบการเหล่านี้ลดลงอย่างช้า ๆ นับตั้งแต่ช่วงสูงสุดของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารและตลาดทุนได้อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีธุรกิจในบางภาคส่วนที่มีภาระหนี้ที่สูงอยู่ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และบริษัทขนาดใหญ่บางแห่งในประเทศไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

ดร. สุชาดา พันธุ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานจัดอันดับเครดิต ทริสเรทติ้ง “ผลกระทบของภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่มีต่อผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทย”  ทริสเรทติ้งคาดว่าการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนในวงจำกัด โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหลัก 3 ประเภท ได้แก่ อาหารแปรรูป (รวมถึงอาหารทะเลและอาหารสัตว์เลี้ยง) ผลิตภัณฑ์จากยางพารา รวมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยผู้ออกตราสารหนี้เหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 5% ของจำนวนผู้ออกตราสารหนี้ทั้งสิ้น 225 รายที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตอยู่ในปัจจุบัน ผู้ออกตราสารหนี้ในกลุ่มนี้มีรายได้รวมกันแล้วคิดเป็นประมาณ 1 ล้านล้านบาทในปี 2567 ซึ่งในจำนวนนี้มีรายได้จากการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นเพียงประมาณ 5%-6% เท่านั้น นอกจากนี้ ในกรณีที่รัฐบาลไทยยินยอมยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐอาจทำให้การแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้นสำหรับผู้ออกตราสารหนี้จำนวน 3 รายในภาคเกษตรกรรมซึ่งมีรายได้รวมกันอยู่ที่จำนวน 7.6 แสนล้านบาท โดยประมาณ 25% ของรายได้มาจากการจำหน่ายเนื้อหมูและเนื้อไก่ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในภาพรวมจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบมากกว่า โดยอาจจะเกิดการชะลอตัวของการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ประกอบกับความล่าช้าในการลงทุนของภาคเอกชนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานของผู้ออกตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับในระยะสั้นถึงระยะ
ปานกลาง

Mr. Mitsuhiro Yamawaki, Deputy CEO and Chief Risk Officer, CGIF ในกระบวนการประเมินสถานะเครดิตของผู้กู้นั้น CGIF จะพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมหภาค เช่น นโยบายทางการค้าล่าสุดของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อพอร์ตการค้ำประกันสินเชื่อของ CGIF โดยผลกระทบจากพัฒนาการด้านการค้าเหล่านี้อาจมีนัยสำคัญเนื่องจากมีประเทศและภาคธุรกิจในกลุ่มอาเซียน+3 ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการประเมินดังกล่าวในวงกว้าง CGIF มีการระบุปัจจัยเสี่ยงและลักษณะเฉพาะของลูกค้าที่อาจมีความเปราะบางต่อปัจจัยแต่ละด้านเหล่านั้น ทั้งนี้ ลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงจะได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดจากทีมบริหารดีลและฝ่ายบริหารความเสี่ยงและจะมีการรายงานไปยังฝ่ายบริหารตามความเหมาะสมต่อไป

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon