มิติหุ้น – กระทรวงอุตสาหกรรม, สํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และ บริษัท ไทยคม จํากัด (มหาชน) เปิดตัว แพลตฟอร์มติดตามร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อย ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศระบบดาวเทียมผสานกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI (Artificial Intelligence) อย่างเป็นทางการ หวังต่อยอดขยายผลทุกภาคการเกษตร ที่มีภาวการณ์สร้างมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะ PM 2.5 เชื่อมั่นเครื่องมือจะช่วยลดการก่อมลภาวะให้ลดลงถึงค่ามาตรฐาน หนุนอุตสาหกรรมการเกษตรเติบโต เสริมเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ยั่งยืน
ภายในงานวันนี้ ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องบุหงา โรงแรมโกลเดนทิวลิป ซอฟเฟอริน ได้รับเกียรติจาก นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมด้วย นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เปิดตัวแพลตฟอร์ม โดยมีผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนร่วมงานจำนวนมาก
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายในงานว่า ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้มุ่งดำเนินการตามนโยบาย Mind
ใช้หัว และ ใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ของนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดวิสัยทัศน์อุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทราย เติบโตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน “จากสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยปีการผลิต 2567/2568 มีชาวไร่อ้อยขึ้นทะเบียน 430,357 ราย พื้นที่ปลูกอ้อย 11.13 ล้านไร่ ปริมาณอ้อยเข้าหีบ 92.04 ล้านตัน เฉลี่ยผลิตน้ำตาลได้ต่อตาลอ้อย 109.19 กิโลกรัม/ตัน ทั้งนี้ในปี 2567 อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมากกว่า 184,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2568 ณ เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพียงครึ่งปี สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไปแล้วมากกว่า 92,500 ล้านบาท”
นายใบน้อย กล่าวต่อไปถึงสถานการณ์การค้าน้ำตาลโลกว่า“จากข้อมูลองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศInternational Sugar Organization หรือ ISO ประเทศไทยเรามีสัดส่วนการผลิตน้ำตาลโลก อยู่ที่ 5% ถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 5 รองจากบราซิล อินเดีย สหภาพยุโรป และจีน โดยมีสัดส่วนในการส่งออกน้ำตาลโลกอยู่ที่ 9% เป็นอันดับ 2 รองจากบราซิล สูงกว่าอินเดียในปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมน้ำตาลที่แข็งแรงของไทย จนมีบทบาทที่สำคัญต่อตลาดน้ำตาลของโลก”
เลขาธิการ สอน. ยังเปิดเผยถึงผลการดำเนินงานที่สำคัญประจำปี 2568 ด้วยว่า “สำนักงานฯ มุ่งเน้นในการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ทันสมัยสะอาด สะดวกโปร่งใส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการแก้ปัญหาฝุ่น
PM 2.5 จากการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2567/2568 สอน. ได้ดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาการเผาอ้อย เพื่อลดปัญหาฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ใน 6 มาตรการ ซึ่ง 1 ใน 6 มาตรการนั้น คือ การส่งเสริมเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาใช้เทคโนโลยีติดตามการเผาและร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อยด้วยดาวเทียม ที่เราได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Burn Tracking ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญร่วมกับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)”
“จากการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว สามารถลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อยปีที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณอ้อยสดเข้าหีบสูงสุดที่ 85% 78.3 ล้านตัน ปริมาณเผาอ้อยเข้าหีบเพียง 15% 13.68 ล้านตัน ลดลงจากฤดู
การผลิตปี 2566/2567 ที่มีปริมาณการเผาอ้อยเข้าหีบทั้งฤดูกาลผลิตกว่า 29% 24 ล้านตัน ลดการเผาอ้อยลงได้กว่า 10 ล้านตัน เทียบเท่าลดการเผาป่าลงได้กว่า 1 ล้านไร่ หรือลดการปลดปล่อย PM 2.5 ลงได้กว่า 5,000 ตัน/ปี ซึ่งต่ำกว่าเป็นประวัติการณ์ นับเป็นโอกาสอันดี ที่ สอน. และไทยคม ได้แนะนำให้ทุกคนรู้จักกับแพลตฟอร์มติดตามร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อย ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศระบบดาวเทียมผสานกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI เครื่องมือสำคัญอย่างเป็นทางการ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของเรา ที่จะเดินหน้าในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการเผาอ้อย การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และฝุ่น PM 2.5 อย่างครอบคลุม”
นอกจากนี้ เลขาธิการ สอน. ยังเปิดเผยภายในงานถึงแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ 2569 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่า “เรามีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการดำเนินงานทุกพันธกิจด้วยการ ‘ใช้หัว’ และ ‘ใจ’ ปั้นอุตสาหกรรมไทยสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรชาวไร่อ้อยน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นไบโอฮับ ออฟอาเซียน ภายในปี 2570 พัฒนาพลาสติกชีวภาพ เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการเผาอ้อย การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และฝุ่น PM 2.5 สร้างเครือข่าย Center of BioExcellent รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตผลอ้อยประสิทธิภาพน้ำตาลทราย สร้างนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ”
ด้าน นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ที่ผ่านมา ไทยคม ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ในการนำเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Tech มาคิดค้นนวัตกรรมและบริการเพื่อพัฒนาการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจ ที่เราได้จับมือกับ สํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มติดตามร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อย ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศจากระบบดาวเทียมผสานกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI เพื่อการส่งเสริมสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดฝุ่น PM 2.5”
นายปฐมภพ กล่าวต่อไปว่า “แพลตฟอร์มนี้เรียกอีกอย่างว่า Burn Tracking เป็นระบบวิเคราะห์เพื่อติดตามการเผาและร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อย ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศระบบดาวเทียม โดยจะแสดงผลการวิเคราะห์ภาพรวมของการเผาไหม้ในพื้นที่ปลูกอ้อยในรูปแบบ Dashboard เพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์ได้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ พร้อมแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ปลูกอ้อย ผลผลิตอ้อย การคาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าโรงงาน รวมถึงจุดความร้อนและพื้นที่ที่มีร่องรอยการเผาไหม้ โดยนำเสนอในรูปแบบแผนที่เชิงพื้นที่ อำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการนำข้อมูลผลการวิเคราะห์ไปใช้งาน โดยสามารถส่งออกข้อมูลได้ทั้งในรูปแบบไฟล์ PDF และ CSV สามารถรับข้อมูลข่าวสาร พูดคุยสอบถามกับเจ้าหน้าที่ และรับการแจ้งเตือนจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกอ้อยได้อย่างสะดวก ผ่าน Line Official Account”
“ไทยคม ขอขอบคุณ และยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มอัจฉริยะนี้อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยเทคโนโลยี Space Tech และข้อมูลภูมิสารสนเทศจากระบบดาวเทียมผสานกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI อันจะบรรลุผลสำคัญในการส่งเสริมสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดฝุ่น PM 2.5 อันเกิดจากการเผาไหม้ในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งไม่ได้จำกัดแต่เพียงอุตสาหกรรมอ้อยเท่านั้น แต่ยังสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมการเกษตรอื่นๆ อีกด้วย”
ทั้งนี้ นายปฐมภพ มีความเชื่อมั่นว่า การร่วมมือกันในครั้งนี้จะสามารถผลักดัน สร้างความตระหนักรู้ และส่งเสริมสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดฝุ่น PM 2.5 ให้บรรลุผล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เติบโต หนุนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต และยั่งยืนต่อไป
จากนั้น เป็นพิธีเปิดแพลตฟอร์มติดตามร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อย ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศระบบดาวเทียมผสานกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI ซึ่งภายในงาน นายสุวิน ชัยวัง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย. และ นายธีระทัศน์ เกิดช่วย ผู้อํานวยการสำนักผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีอวกาศ บมจ.ไทยคม ได้ร่วมสาธิตการใช้แพลตฟอร์ม ซึ่งมีฟังก์ชั่นการใช้งาน ดังนี้
- DASHBOARD : การวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมของการเผาไหม้ในพื้นที่ปลูกอ้อย โดยมีการแสดงข้อมูล ทั้งภาพรวมของพื้นที่โครงการและการแสดงผลข้อมูลรายภาค ไม่ว่าจะเป็นการแสดงพื้นที่ปลูกอ้อย, แสดงผลผลิตอ้อย, แสดงการคาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าหีบ, แสดงพื้นที่ปลูกอ้อยซ้ำ, แสดงจุดความร้อน, แสดงพื้นที่เผาไหม้ซาก
- MAP การแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบของแผนที่แสดงข้อมูลพื้นที่ปลูกอ้อยผลผลิตอ้อย และการคาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าหีบ : โดยมีการนำเสนอข้อมูลตั้งแต่ระดับภาพรวมของโครงการ รายจังหวัด ไปจนถึงระดับตำบล พร้อมทั้งแสดงรายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลในจุดที่สนใจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
- Mini Dashboard : สามารถเปรียบเทียบข้อมูลได้ในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล พร้อมทั้งแสดงผลข้อมูลผ่านแผนที่เชิงพื้นที่ เพื่อสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สามารถเปรียบเทียบและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น จุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้ระบบสามารถแสดงข้อมูลจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกอ้อย รวมถึงพื้นที่ที่มีร่องรอยการเผาไหม้ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย โดยมีการแสดงผลในรูปแบบแผนที่ พร้อมการนำเสนอข้อมูลตั้งแต่ระดับภาพรวมของโครงการ ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับตำบล ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สามารถเลือกแสดงข้อมูลตามช่วงเวลา ได้แก่ รายวัน รายสัปดาห์ รายปี หรือกำหนดช่วงเวลาที่สนใจได้ตามต้องการ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนและบริหารจัดการโครงการที่เกี่ยวข้องกับอ้อยอย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด
- MAP EXPORT : สามารถเลือกเฉพาะข้อมูลพื้นที่ที่สนใจ และเฉพาะข้อมูลที่สนใจ แล้วนำข้อมูลออกไปใช้งานในรูปแบบของแผนที่ ไฟล์ PDF และ CSV ได้
- BURNTRACKING Line Official Account เจ้าหน้าที่สามารถรับข่าวสารการแจ้งเตือนการเกิดจุดความร้อนในพื้นที่ รวมไปถึงพูดคุยปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับอ้อยผ่าน Line Official Account
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon