CITI เปิด 6 เทรนด์การรับมือกำแพงภาษีของภาคธุรกิจ พร้อมแนะนำโซลูชันการเงิน คว้าโอกาสสวนกระแสโลก

9

มิติหุ้น – ตั้งแต่การลงนามความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าในปี 2490 ระบบการค้าโลกได้ดำเนินอยู่ภายใต้กติกาสากลที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งวันที่ 2 เมษายน 2568 เมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับทุกประเทศทั่วโลก นับเป็นจุดพลิกผันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเจ็ดทศวรรษของประวัติศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ

คำถามที่หลายฝ่ายเฝ้าจับตาคือ ธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การค้าโลกอย่างไรบ้างซึ่งบทวิเคราะห์ Global Trade in Transition: Tariffs Reshape Supply Chains, Strategy, and Financing ของ “ธนาคารซิตี้แบงก์” ระบุว่า แม้บางประเทศเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศจีน เวียดนาม แต่ภาคอุตสาหกรรมในระดับโลก ตั้งแต่ภาคเทคโนโลยี ยานยนต์ สินค้าและบริการเพื่อผู้บริโภค ไปจนถึงภาคการเกษตรและโลจิสติกส์ ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากอัตราภาษี และมีการเร่งปรับโครงสร้างซัพพลายเชน กลยุทธ์การเงิน และแผนการลงทุนครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี ทุกประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลกจึงล้วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม รวมถึงประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกรถยนต์ให้สหรัฐอเมริกา ก็เริ่มเผชิญแรงกดดันในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์เช่นกัน

เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การค้า องค์กรธุรกิจมีแนวโน้มปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว โดยเทรนด์การตั้งรับที่สำคัญประกอบด้วย

  • การขยายฐานการผลิตในสหรัฐฯ ผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรอย่างโรงงาน FDI หรือการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ เพื่อลดความเสี่ยงด้านการขนส่งรวมถึงเลี่ยงภาษีนำเข้า
  • ย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่ภาษีต่ำ แต่ความไม่แน่นอนของระดับภาษีในอนาคตทำให้การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตยังคงเป็นประเด็นที่ซับซ้อน
  • เพิ่มกำลังการผลิตในโรงงานเดิม ลดต้นทุนด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่
  • กระจายฐานซัพพลายเออร์ รวมถึงเพิ่มการจัดซื้อจากหลายแหล่ง ลดความเสี่ยงการพึ่งพาซัพพลายเออร์เจ้าเดียว
  • สำรองสต็อกสินค้าในคลัง เพื่อไม่ให้กระทบการขายหรือการผลิตหากเกิดวิกฤติ และบางบริษัทยังเร่งส่งสินค้าก่อนจะเกิดสงครามการค้า
  • รัดเข็มขัดเงินสดสำรองและรักษาสภาพคล่อง เพื่อรับแรงกดดันด้านกำไรและยอดขายที่ลดลง

และแม้สถานการณ์จะมีความท้าทาย แต่ธุรกิจที่สามารถกระจายความเสี่ยงพร้อมบริหารทรัพยากรอย่างยืดหยุ่น ยังมีโอกาสสร้างการเติบโตได้ด้วยการลงทุนในตลาดใหม่ รวมถึงสร้างความได้เปรียบจากโครงสร้างภาษีที่เปลี่ยนแปลง เครื่องมือการเงินเพื่อบริหารความเสี่ยงและอำนวยความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศ ทั้งโซลูชันบริหารเจ้าหนี้การค้า (Payables Finance) และลูกหนี้การค้า (Accounts Receivable) ที่ช่วยให้การลงทุนคล่องตัวในภาวะต้นทุนสูงขึ้นจากภาษี ตราสารเครดิต (Letters of Credit) ที่ออกโดยธนาคารเพื่อรับประกันการชำระเงิน รวมถึงสินเชื่อเพื่อการค้าและทุนหมุนเวียน (Trade and Working Capital Loans) ซึ่งช่วยให้ธุรกิจมีเงินสดเพียงพอสำหรับการซื้อวัตถุดิบ การผลิต และจัดส่งสินค้า จึงได้รับความสนใจจากองค์กรทั่วโลก

นางสาว นฤมล จิวังกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ภูมิทัศน์การค้า ทิศทางที่ผันผวนในขณะนี้เป็นความท้าทายอย่างสูงสำหรับการวางกลยุทธ์ขององค์กร การมีพันธมิตรด้านการเงินที่มีทั้งบริการครบวงจรและความเชี่ยวชาญในตลาดนานาชาติ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารความเสี่ยงและการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เข้าถึงตลาดเงินตลาดทุนในแต่ละประเทศ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินระดับโลก สำหรับองค์กรที่ต้องการขยายการเติบโตในระดับนานาชาติ ธนาคารซิตี้แบงก์ เป็นพันธมิตรอันดับต้นที่พร้อมตอบโจทย์ธุรกิจ ด้วยบริการที่สอดรับกับความต้องการขององค์กร และเครือข่ายครอบคลุมกว่า 180 ประเทศทั่วโลก ช่วยเชื่อมโยงลูกค้าเข้ากับโอกาสที่เหมาะสม พร้อมมอบข้อมูลเชิงลึกที่ทันเหตุการณ์ เพื่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่แม่นยำ สนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นใจในเวทีโลก”

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon